Last updated: 25 ก.ค. 2565 | 1360925 จำนวนผู้เข้าชม |
มีคำถามเข้ามาหลายครั้ง
- ซื้อครีมไปกระปุกหนึ่ง บนกระปุกครีมระบุว่าขนาด 20 g แต่พอเอา syringe ดูดครีมขึ้นมาแล้ว ได้แค่ 10-15 ml ครีมก็หมดกระปุกแล้ว
- ซื้อเซรั่มมาขวดหนึ่ง ขวดเหมือนเซรั่มอีกตัวที่ใช้อยู่ ขนาดขวดเท่ากันเป๊ะ แต่ปริมาณบรรจุที่ลงข้างขวดกลับไม่เท่ากัน ขวดนึงลงว่า 18 ml อีกขวดลงว่า 15 g
เอ๊ะ ชักงง อะไรคือ ml อะไรคือ g แล้วขวดเท่ากัน ทำไมบรรจุคนละหน่วย
คำตอบคือ
ml, cc, g เป็นหน่วยการตวงวัดคนละระบบ แต่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยใช้ความหนาแน่นหรือความถ่วงจำเพาะมาช่วยเปรียบเทียบข้ามหน่วย
ml ( มล. หรือ มิลลิลิตร) และ cc (ซีซี ย่อมาจาก cubic centimeters หรือลูกบาศก์เซนติเมตร) ...เป็นหน่วยวัดปริมาตร โดย 1 ml มีค่าเท่ากับ 1 cc
g (กรัม) ....เป็นหน่วยวัดมวลหรือวัดน้ำหนัก
ในบทความต่อจากนี้ไป จะใช้ตัวย่อ ml แทน มล. /cc แทน ซีซี / และ g แทน กรัม นะคะ
พระเอกที่จะใช้อธิบายเรื่องหน่วยตวงวัดที่ดีที่สุด ก็คือ น้ำบริสุทธิ์ค่ะ
น้ำบริสุทธิ์มีความหนาแน่น 1 g/ml
หมายถึง ถ้าเราตวงน้ำบริสุทธิ์มา 1 มล. (เท่ากับ 1 cc ) เมื่อเราเอาไปชั่งน้ำหนักจะได้ 1 g พอดีค่ะ
จำง่ายๆคือ น้ำบริสุทธิ์ 1 ml = 1cc = 1g
แต่ถ้าเป็นสารอื่นที่ไม่ใช่น้ำบริสุทธิ์ เช่น นม น้ำมัน ครีม โลชั่น ค่าความหนาแน่นของมัน ไม่ได้เท่ากับ 1 g/ml เหมือนน้ำ ดังนั้น 1 g ของสารเหล่านี้ จึงไม่ได้มีค่าเท่ากับ 1 ml อีกต่อไป
คุณรู้หรือไม่ว่า นม 1 ml หนัก 1.03 กรัม
เราจึงต้องมีวิธีคำนวณข้ามหน่วย วิธีคำนวณก็คือ ใช้ค่า ความหนาแน่น (density, D)
แล้วเราจะรู้ค่า ความหนาแน่น ได้อย่างไรล่ะ? มาดูวิธีคำนวณอย่างง่ายกัน
ยกตัวอย่าง การหาความหนาแน่นของโลชั่นหนึ่ง สมมติว่า ชื่อ โลชั่นเชอร์รี่
วิธีทำ ตวงเอาโลชั่นเชอรี่มา 5. ml แล้วไปชั่งน้ำหนัก สมมติว่าได้ 10 g ดังนั้นโลชั่นเชอรี่ตัวนี้จะมีความหนาแน่น = 10 g/5 ml = 2 g/ml
ความหมายก็คือ โลชั่นเชอรี่ 1 ml หนัก 2 g จำเลข 2 นี้ไว้ให้ดีนะคะ ทดไว้ในใจ
วันนี้ บังเอิญว่าแวะไปซื้อแพกเกจที่ร้าน ร้านบอกว่าขวดนี้บรรจุได้ 100 ml ตรงนี้ ให้ทุกคนท่องไว้ในใจเสมอว่า ตัวเลขที่ร้านบอกนั้น คือตัวเลขที่ใช้น้ำบริสุทธิ์เป็นเกณฑ์ในการวัด ย้ำ เป็นตัวเลขที่ใช้น้ำในการวัด
กลับถึงบ้าน เมื่อเราบรรจุโลชั่นเข้าไปเต็มขวด ที่ 100 ml เราจะต้องเสียเนื้อโลชั่นเชอร์รี่ไปเป็นจำนวน 200 g เพราะโลชั่นเชอรี่ มีค่าความหนาแน่นเท่ากับ 2 ( 1 ml= 2 g)
ดังนั้น โลชั่นเชอร์รี่ที่ซื้อมา 1 กิโล (1000 g ) จะบรรจุลงขวดขนาด 100 ml ได้ทั้งหมด 1000/200= 5 ขวด เท่านั้น ไม่ใช่ 10 ขวด ...ตรงนี้สำคัญมากนะคะ ถ้าคำนวณผิด กำหนดราคาขายผิด มีสิทธิ์ขาดทุน
แต่ถ้าเรามีขวดที่เราไม่ทราบขนาดบรรจุมาก่อน และไม่ทราบความหนาแน่นของผลิตภัณฑ์ที่เราจะบรรจุอีกด้วย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าถ้าเราบรรจุเต็มขวดจะต้องเสียเนื้อผลิตภัณฑ์ไปเท่าไหร่ต่อขวด วิธีทำไม่ยากค่ะ ใช้หลักการ tare ศูนย์ ของตาชั่งดิจิตอลช่วย
1. ชั่งน้ำหนักขวดเปล่า จดไว้ก่อน
2. เติมโลชั่น ให้เต็มขวด ชั่งอีกครั้ง
3. เอาน้ำหนักข้อ 2 ลบข้อ 1 จะได้น้ำหนักจริงของเนื้อโลชั่นที่เติมเข้าไป
มาถึงตรงนี้ หายสงสัยกันหรือยังคะว่า ทำไมแพกเกจที่ขายกันในท้องตลาด เวลาเอามาบรรจุครีมแล้ว มันเพี้ยนจัง ถ้าเข้าใจกันแล้ว ก็อย่าลืมกดแชร์ กดถูกใจบทความนี้ให้ด้วยนะค้า