Last updated: 25 ก.ค. 2565 | 126846 จำนวนผู้เข้าชม |
คำว่า “เวชสำอาง” แปลมาจากคำว่า “cosmeceutical products” ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีนิยามตามกฎหมาย (หมายถึงไม่มีประเทศใด ที่มีคำนี้ในกฎหมายของเขา) ไม่ว่าจะจากองค์การอาหารและยา (อย.) ของเมืองไทย อเมริกา หรือประเทศกลุ่มยุโรป แต่มีความหมายเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่จัดอยู่ในกลุ่ม “quasi-drug” ของญี่ปุ่น (แต่ของญี่ปุ่นเค้ามี regulation เฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้)
ในเมื่อ คำว่า “เวชสำอาง” แปลมาจากคำว่า “cosmeceutical products” ก็หมายความว่า บ้านเราเอาศัพท์ฝรั่งมาแปลเรียกกันเอง และคำว่า เวชสำอาง ก็ไม่มีนัยใดๆสำหรับกฏหมายบ้านเราเช่นกัน
ขณะที่ “เครื่องสำอาง" หมายถึง สิ่งปรุง รวมทั้งเครื่องหอม และสารหอมต่างๆ ที่ใช้บนผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ ที่มุ่งหมายสำหรับทำความสะอาด ป้องกัน แต่งเสริม เพื่อความงาม หรือเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะ โดย ถู ทา พ่น หรือโรยเป็นต้น” โดยที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของร่างกาย แต่......เวชสำอางใช้แล้วมันดันให้ผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ หรือเรียกได้ว่าเป็น functional cosmetics มันก็เลยมีชื่อกึ่งๆระหว่างยากับเครื่องสำอางว่า “เวชสำอาง” ซึ่งสารออกฤทธิ์ที่ถือเป็นเวชสำอางได้แก่ Vitamin ต่างๆ, Antioxidants, Hydroxy acids, Growth Factors, Hormones, Peptides, Glycosaminoglycans และสารสกัดจากพืชบางชนิด
ในทางกฎหมายไม่มีประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เรียกว่า “เวชสำอาง” ในการโฆษณาสินค้าเหล่านี้ทางกฎหมายจึงถือเป็นเครื่องสำอาง จึงต้องโฆษณาให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลการโฆษณาเครื่องสำอางตามบทบัญญัติของ พระราชบัญญติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ต้องไม่โฆษณาคุณสมบัติมากไปกว่าการเป็นเครื่องสำอาง ดังนั้นอย่างคำว่าใช้แล้ว ขาว ก็ใช้ไม่ได้ เป็นการโอ้อวดเกินจริง ต้องเลี่ยงไปใช้คำว่า “ทำให้ผิวแลดูกระจ่างใส” แทน เป็นต้น
จะว่าไปแล้ว สำหรับในเมืองไทยเรา มีผลิตภัณฑ์ที่ดูคล้ายเป็นเครื่องสำอาง หรือเวชสำอาง แต่จริงๆแล้วจัดเป็น ยา อยู่บ้างเหมือนกัน และบางร้านก็เอามาประกาศขายหน้าเวบ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังขาย ยา เช่น CM-lotion (โลชั่น clindamycin แต้มสิว) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องมีเลขทะเบียน อย. กำกับ (เลขทะเบียนบนเครื่องสำอาง จะไม่มีคำว่า อย. นำหน้าตัวเลข จะแสดงเฉพาะตัวเลขเท่านั้นค่ะ)
อย่าเพิ่งกลัว แค่ได้ยินว่า เวชสำอาง ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ใครก็ใช้กันค่ะ ที่สำคัญ คือ ต้องใช้ให้เป็น หมายความว่า ควรใช้ในการรักษาหรือฟื้นฟูผิว เมื่อผิวกลับมาเป็นปกติหรือดีขึ้นแล้ว ควรพักผิวและกลับมาใช้สกินแคร์ปกติทั่วไปค่ะ
สำหรับบางร้าน ที่เคลมว่าผลิตภัณฑ์ในร้านขายครีมสมุนไพร 100% ปลอดภัยแน่นอน ไม่ใช่เวชสำอาง คงต้องทำความเข้าใจใหม่ รวมไปถึงผู้ซื้อด้วยเช่นกัน อย่าเชื่อทุกอย่างที่มีคนมาบอก ขอให้ศึกษาอ่านเองเพิ่มเติมบ้าง จะได้ไม่ถูกหลอกค่ะ
ลองดูใหม่ว่า มีสินค้าสักตัวมั๊ย ที่มีส่วนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ Vitamin ต่างๆ, Antioxidants, Hydroxy acids (AHA. BHA) , Growth Factors, Hormones, Peptides , Glycosaminoglycans และสารสกัดจากพืชบางชนิด ถ้ามีก็จัดเป็น เวชสำอาง แล้วค่ะ
คำถามที่พบบ่อย
1. ใช้ครีมสมุนไพรอยู่ ใช้ร่วมกับเวชสำอางได้หรือไม่ ??? คำถามนี้พบบ่อยมากค่ะ
ตอบ ประเด็นที่ว่าเวชสำอางไม่ สามารถใช่ร่วมกับเครื่องสำอางที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติได้ ไม่เป็นความจริง อย่างที่บอกไป อย่าเพิ่งกลัวเพียงแค่ได้ยินว่าเป็นเวชสำอาง แต่ให้ใช้ให้เป็น ปัจจุบันนี้เวชสำอางหลายอย่างสกัดมาจากธรรมชาติ ไม่มีเหตุผลใดที่จะมาบอกว่า “ สินค้าในร้านเราสกัดมาจากธรรมชาติ ใช้ร่วมกับเวชสำอาง ยาหมอ ไม่ได้ “ เครื่องสำอางที่ขายบนเน็ต มากกว่า 80 % ก็เป็นครีมทั่วไปไม่ใช่เวชสำอาง แต่บางร้านโชว์สโลแกนของร้านว่าจำหน่ายเวชสำอางคุณภาพสูง แต่จริงๆแล้วสินค้าในร้านมีไม่กี่ตัวที่เป็นเวชสำอาง นอกนั้นก็เป็นเครื่องสำอางทั่วไป แต่คนซื้ออาจจะไม่ทราบ แยกแยะไม่ถูก อาจจะเหมารวมว่าสินค้าในร้านเป็นเวชสำอางทั้งหมด ในทางกลับกัน สารสกัดจากพืชหลายชนิดเป็นเวชสำอาง ผู้ที่ขายครีมสมุนไพรก็อาจจะไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังขายเวชสำอางอยู่
2. สินค้าของฟาร์มาบิวตี้แคร์ เป็นเวชสำอางหรือเปล่าคะ ? ไม่กล้าใช้เวชสำอาง กลัวแพ้ค่ะ
เวชสำอาง คือ อะไร ?
เวชสำอาง คือ ยา ?
เวชสำอาง คือ แรง?
ตอบ
1. คำว่าเวชสำอาง เป็นคำที่คนไทยเราบัญญัติศัพท์กันขึ้นมาเอง โดยแปลมาจากภาษาอังกฤษ คำว่า " Cosmeceutical" ที่มีความหมายว่า เครื่องสำอางที่ให้ผลคล้ายยา ขีดเส้นใต้ว่า "คล้าย" เท่านั้น ไม่ใช่ยา
ย้ำอีกครั้ง เครื่องสำอางก็คือเครื่องสำอาง ทาเพื่อความสวยงาม ไม่ใช่ยา ไม่มีผลในการรักษาโรค
2. คำว่าเครื่องสำอางที่ให้ผลคล้ายยา คืออะไร
คือเครื่องสำอางที่ทาไปแล้วมีผลเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของผิวหนัง เช่น สีผิวสว่างแลดูขาวขึ้น ริ้วรอยตื้นขึ้น หลุมสิวตื้นขึ้น คล้ายกับการทายา เราจึงเรียกเครื่องสำอางกลุ่มนี้ว่า เวชสำอาง
ฉะนั้น ถ้าเราลองคิดถึงครีมที่เราใช้อยู่ ณ ตอนนี้ เราจะรู้ว่า มันก็คือ เวชสำอางดีๆนี่เอง ไม่ต้องหนี ไม่ต้องกลัว คุณใช้มันอยู่ โดยไม่รู้ตัว แต่บางคนอาจถูกเป่าหูจากพ่อค้าแม่ค้าบางราย ว่าเวชสำอางไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ มาใช้ครีมสมุนไพรกันเถอะ ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริงเลย ครีมสมุนไพรก็จัดเป็นเวชสำอางเช่นกัน ถ้ามีผลตามที่บอก คือ ทาแล้วหน้าขาวใสขึ้น ริ้วรอยลดลง แน่นอนว่าครีมอะไรก็ย่อมให้ผลแบบนี้เกือบทั้งนั้น ถ้าไม่ให้ผลแบบนี้ ก็คงขายไม่ได้ ไม่มีคนซื้อ
3. สินค้าเรามีทั้งเวชสำอางและไม่ใช่เวชสำอาง อย่างผลิตภัณฑ์กลุ่มล้างหน้า เช็ดเมคอัพ ก็ไม่เป็นเวชสำอางค่ะ เพราะทำหน้าที่แค่ชะล้างสิ่งสกปรกเท่านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มรักษาฝ้า หลุมสิว พวกนี้เป็นเวชสำอางค่ะ.
บทความนี้เรียบเรียงโดยฟาร์มาบิวตี้แคร์ ข้อความบางส่วนคัดลอกมาจาก www.pleasehealth.com โดย อ.ภญ. หรรษา มหามงคล
ตอนต่อไปเราจะนำเสนอเรื่อง เครื่องสำอางสมุนไพร 100% มีจริงหรือ