เจลล้างมือยี่ห้อไหนดี แอลกอฮอล์ล้างมือยี่ห้อไหนดี เรามีวิธีเลือกมาบอกค่ะ

Last updated: 13 ก.ค. 2566  |  15764 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เจลล้างมือยี่ห้อไหนดี แอลกอฮอล์ล้างมือยี่ห้อไหนดี เรามีวิธีเลือกมาบอกค่ะ

บทความนี้เรียบเรียงโดย ภญ.จิราพรรณ คำดี และ ภก. ธีรชัย เรืองบัณฑิต ห้ามคัดลอกไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ก่อนได้รับอนุญาต  ลงวันที่ 12 เมษายน 2563

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ได้กลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการเป็นอย่างมาก  ณ. วันที่ 12 เมษา 2563 อย.เปิดเผยว่า ได้อนุมัติเลขจดแจ้ง เจลล้างมือฯไปกว่า 7000 เลข  (amazing)

เมื่อปลายปี พ.ศ.2562  อย.มีร่างที่จะกำหนดให้ เจลล้างมือ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ แต่ รมต.กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า จะเกิดการขาดแคลน เพราะผู้ผลิตที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถยื่นขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์นั้นมีไม่มากนัก  จึงยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าว และให้เจลล้างมือฯ ยังคงเป็นเครื่องสำอางแต่จะต้องมีความเข้มข้นที่ 70% v/v ขึ้นไปเท่านั้น จากเดิมที่กำหนดให้เจลล้างมือฯ ที่เป็นเครื่องสำอางมีแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 69.4% v/v

เมื่อกฎหมายเปลี่ยนให้ เจลล้างมือ เป็นเครื่องสำอาง เหมือนปลดล็อคครั้งใหญ่ ใครก็ผลิตได้ และใครก็ขอเลขจดแจ้งได้  ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีจำนวนแบรนด์เจลล้างมือฯ มากที่สุดในโลก

เมื่อมันมีถึง 7000 เลขจดแจ้ง  แล้วจะเลือกยี่ห้อไหนดี วันนี้เราจะมาสรุปแบบไม่ย่อให้ค่ะ 

1. แอลกอฮอล์ที่ใช้ผลิต มีอยู่ 2 ชนิด คือ เอทิลแอลกอฮอล์ และ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์  (IPA) โดยทั่วไปนิยมใช้เอทิลแอลกอฮอล์ เพราะระคายเคืองน้อยกว่า   ความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ 70-95% v/v  ที่ระดับความเข้มข้นนี้แอลกอฮอล์จะมีเวลาอยู่บนผิวนานพอก่อนที่จะระเหยออกจากผิวและมีปริมาณน้ำในสูตรเพียงพอที่จะเข้าไปจัดการข้างในไวรัส

เอทิลแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์โดยไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของไวรัสและพาน้ำเข้าไปจัดการข้างในทำให้โปรตีนเสื่อมสภาพ ซึ่งรหัสพันธุกรรมของไวรัสก็เป็นสารจำพวกโปรตีน

 2. เกรดของเอทิลแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ ควรเป็นเกรดเครื่องสำอาง เกรดอาหาร หรือเกรดยา ซึ่งมีความบริสุทธิ์สูง แต่ผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อ มีการนำเอทิลแอลกอฮอล์ เกรดอุตสาหกรรม ที่มีความบริสุทธิ์ต่ำ หาได้ง่าย และราคาถูก มาใช้แทน เพื่อลดต้นทุน และที่แย่กว่านั้นคือ มีการนำเมทิลแอลกอฮอล์มาใช้ ซึ่งเป็นพิษต่อทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

คำเตือน :  ระมัดระวังเจลล้างมือที่ทำจากเมทิลแอลกอฮอล์  ผิดกฎหมาย  เมทิลแอลกอฮอล์สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้หลอดลม ลำคอ เยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจหรือสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลําบาก การมองเห็นผิดปกติและ อาจตาบอดได้ ทั้งนี้ อย. ไม่อนุญาตให้ใช้เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีฐานผลิต นำเข้า หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ สำหรับผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


อันตรายของเมทิลแอลกอฮอล์ 

 

3. ปริมาณ % แอลกอฮอล์ ที่ระบุบนฉลากเป็นเลขที่ผู้ผลิตแต่ละรายสามารถระบุได้ด้วยตัวเอง จากการคำนวณในขั้นตอนการผสม และ อย.มิได้ ทำการขอเอกสารวิเคราะห์ % ในกระบวนการจดแจ้ง (แต่ อย.อาจขอเอกสารการตรวจวิเคราะห์ภายหลัง เช่น กรณี มีผู้ร้องเรียน ) ดังนั้น ตัวเลข % บนฉลากอาจจะจริงหรือเท็จก็ได้ ผู้ซื้อควรพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตและผู้ขาย ก่อนตัดสินใจซื้อ

ทำไม อย.ไม่ตรวจสอบ % แอลกอฮอล์ ก่อนอนุมัติเลขจดแจ้ง? 
ตอบ เพราะการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ต้องใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์ซึ่งมีราคาสูงถึง 1-2 ล้านบาท/เครื่อง ปัญหาคือ อย.มีเครื่องไม่เพียงพอที่จะตรวจวิเคราะห์ได้ทัน  โดยทั่วไปเครื่องนี้จะมีอยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศซึ่งตั้งอยู่จังหวัดใหญ่ๆ คำนวณคร่าวๆ  สมมติว่ามีทั้งหมดประมาณ 10 เครื่อง ในประเทศไทย (ในความจริงน่าจะมีน้อยกว่านี้) 

 1 เครื่อง ตรวจ 1 ตัวอย่าง ใช้เวลา 1 วัน === > ดังนั้น ใน  1 วัน จะตรวจได้ทั้งหมดประมาณ 10 ตัวอย่าง 

7,000 แบรนด์ที่ยื่นจดแจ้ง จะต้องใช้เวลาทั้งหมด 7000/10=700 วัน หรือ 2 ปีเลยทีเดียว เป็นการใช้เครื่องแบบโหด ใช้เครื่องจบ 2 ปี เครื่องอาจพัง เสียค่าซ่อมอีกหลายแสน

ในทางปฏิบัติ เราไม่สามารถรอถึง 2 ปี เพราะโควิดก็คงไม่รอเราเช่นกัน ดังนั้น ที่ อย.ทำได้คือ อนุมัติเลขจดแจ้งไปก่อน แล้วตามจับทีหลัง (ซึ่งก็จับได้บ้างไม่ได้บ้าง) 

 อย่าเพิ่งเชื่อตัวเลข %บนฉลากผลิตภัณฑ์ล้างมือ เพราะผู้ผลิต/ผู้ขาย เติมเลขเท่าไหร่ก็ได้ ..หลายคนยังไม่รู้ข้อนี้?

 

4. เมื่อเลข % บนฉลาก อาจเป็นเท็จ แล้วประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่าผู้ผลิตระบุ % ตามความเป็นจริง และมีวิธีเลือกซื้ออย่างไร

  • ผู้ซื้อสามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์หรือห้องแล็บเอกชน ผู้ซื้อออกค่าใช้จ่ายเอง  ประมาณ 3000 บาท/ ตัวอย่าง...วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด และค่าใช้จ่ายสูงที่สุดเช่นกัน คงไม่มีใครลงทุนทำ

  • สังเกตลักษณะบรรจุภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อ ต้องดูดีมีมาตรฐาน  ฉลากมีความคมชัด รายละเอียดถูกต้องตามที่ อย.กำหนด หรือไม่  เคยเห็นร้านหนึ่งใน shopee ลงส่วนผสมบนฉลากเป็น water ,...,...แล้ว ethyl alcohol อยู่ท้ายๆ แบบนี้แปลว่าใส่เอทิลแอลกอฮอล์แค่นิดเดียวใช่มั้ย ก็ไม่รู้เหมือนกัน ปกติเจลล้างมือที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ถึง 70% ควรจะอยู่ลำดับแรก

  • ซื้อจากแหล่งขายหรือ ผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อจากผู้ขายที่เป็นแพทย์​ (คลินิก) เภสัชกร (ร้านขายยา) จะช่วยสกรีนคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้

  • ดูวันที่ผลิตสินค้า วันหมดอายุของสินค้า

  • ดูเลขที่ใบรับแจ้ง (เลขจดแจ้ง ขอไม่ยาก ..อาจไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่)

  • ดูสถานที่ผลิต ควรเป็นแลบมาตรฐาน GMP/ISO ใช้เครื่องจักรทันสมัยในการผลิต ไม่กวนมือ รายชื่อแลบที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศไทย  คลิกที่นี่ >> รายชื่อแลบที่ได้รับ GMP ของ อย.​​ 

 

  
เลือกแลบที่ได้รับมาตรฐาน GMP CODEX หรือ GMP จากองค์การอาหารและยา 

5. ทำไม เจลล้างมือ บางยี่ห้อถึงหนืดแบบแป้งเปียก
ตอบ เพราะสารสร้างเนื้อเจลเกรดคุณภาพขาดตลาดโลกและราคาสูงขึ้นมาก ผู้ผลิตบางรายจึงมีการนำสารสร้างเนื้อเจลเกรดไม่ดี ราคาถูก มาใช้แทน ทำให้เนื้อเจลที่ได้ไม่ stable บางครั้งตกตะกอน แยกชั้น ขึ้นขุย เหนอะหนะ เป็นก้อน ทาแล้ว ไม่ซึมเข้าผิว หรือที่เรียกกันว่า เจลล้างมือแป้งเปียก และในบางยี่ห้อก็นำแป้งเปียกมาผสมจริงๆ  บ่งบอกถึงคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และจรรยาบรรณของผู้ผลิต

6. แอลกอฮอล์แบบน้ำดีกว่าแบบเจลหรือไม่
ตอบ ไม่มีความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพถ้าใช้ถูกวิธี  แอลกอฮอล์น้ำที่นำมาใส่ขวดสเปรย์ อย. เน้นย้ำให้ใช้กับมือ โดยกำหนดให้ในชื่อผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งต้องมีคำว่า "hand" เสมอ ไม่ควรนำไปพ่นสิ่งของพื้นผิวเพราะอาจทำให้พื้นผิวเสียหาย  อีกทั้งโอกาสติดไฟสูงกว่าแบบเนื้อเจล ควรใช้และเก็บรักษาอย่างระมัดระวัง

 

7. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แอลกอฮอล์ food grade สามารถรับประทานได้ใช่หรือไม่
ตอบ แม้จะใช้เอทิลแอลกอฮอล์ที่เป็น Food grade ในการผลิต ก็ไม่สามารถเคลมได้ว่าสินค้ามีความปลอดภัยต่อเด็กหรือต่อผู้ใช้ในการรับประทาน เพราะในสูตรจะมีส่วนประกอบอื่นๆที่ไม่สามารถทานได้รวมอยู่ด้วย

ดังนั้น การเคลมว่าแอลกอฮอล์ของเราเป็น food grade หลังใช้สามารถใช้มือหยิบจับอาหารเข้าปากได้ การเคลมเช่นนี้ถือว่าใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อเจตนาทางการตลาด

นอกจากนี้ อย.ไม่อนุญาตให้ลงคำว่า food grade บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะอาจจะสื่อให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย สามารถทานได้


 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้