ครีมกันแดดยี่ห้อไหนดี มีวิธีเลือกมาฝาก บทความโดยเภสัชกร

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  42513 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ครีมกันแดดยี่ห้อไหนดี มีวิธีเลือกมาฝาก บทความโดยเภสัชกร


ผลวิจัยระบุไว้ชัดเจนว่า 90 % ของปัญหาริ้วรอยก่อนวัยเกิดจาก “ แสงแดด ” การทาครีมกันแดดทุกวันจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าการหาครีมบำรุงเพื่อลดริ้วรอย และคงไม่มีประโยชน์หากคุณใช้ครีมลดริ้วรอยกระปุกเป็นพัน แต่ละเลยการทาครีมกันแดด ครีมกันแดดยี่ห้อไหนดี ล่ะ ที่จะช่วยป้องกันริ้วรอยก่อนวัยนี้ได้ บทความนี้มีคำตอบ 



เพราะในแสงแดดประกอบด้วยรังสีอันตราย ที่มองไม่เห็น ทั้งรังสี UVA และ UVB  คอยทำลายผิวทำให้ผิวเกิดริ้วรอย ภูมิต้านทานผิวต่ำลง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอและเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการทำลายผิวที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ารังสีดังกล่าวไปทำลายคอลลาเจน กระตุ้นการเกิดอนุมูลอิสระ รบกวนการซ่อมแซมตัวเองของ DNA และยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน  

  • รังสี UVB มีความยาวคลื่น 290 - 320 nm รังสีชนิดนี้จะพบมากในแดดช่วง 10-14.00 น. และจะเข้มมากขึ้นในฤดูร้อน ไม่สามารถทะลุแก้ว กระจก ได้ รังสีชนิดนี้ทำอันตรายต่อผิวหนังชั้นนอก (epidermis) อาการผิวหนังไหม้ เกรียมแดด แสบร้อนเป็นตัวชี้วัดว่าผิวกำลังเผชิญกับรังสี UVB ปกติผิวหนังชั้น epidermis มีเซลล์เม็ดสีเป็นส่วนประกอบ เซลล์เม็ดสีจะถูกกระตุ้นให้สร้างเม็ดสีเพื่อช่วยกรองปริมาณรังสี UVB ที่จะผ่านลงไปที่ผิวหนังชั้นใน รังสี UVB ทำให้เกิดกระ จุดด่างดำ ถ้าหากแดดแรงและได้รับเป็นเวลานาน เม็ดสีเมลานินอาจไม่สามารถช่วยกรองรังสีได้ทั้งหมด จึงทำให้เกิดการทำลาย DNA และกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้

  • รังสี UVA มีความยาวคลื่น 320 -400 nm แต่ก่อนนี้รังสี UVA เป็นสิ่งที่ใครๆก็ไม่เคยคิดว่าจะมีส่วนในการทำลายผิว ต่อมาเมื่อมีงานวิจัยออกมามากขึ้น จึงได้พบว่า รังสี UVA เป็นตัวการที่ทำให้ผิวเกิดริ้วรอยมากที่สุด  รังสี UVA สามารถทะลุทะลวงผ่านกระจก เสื้อผ้า เข้าไปทำลายคอลลาเจนถึงผิวชั้น dermis ได้ อีกทั้งมีส่วนเสริมการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วยเช่นกัน ปริมาณรังสี UVA จะไม่ขึ้นกับช่วงวันหรือช่วงปี หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนของวันหรือของปี ความเข้มของมันค่อนข้างจะคงที่ ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะออกแดดหรือไม่ก็ตาม คุณยังได้รับ รังสี UVA  เสมอ

  • รังสี UVC จัดเป็นรังสียาวคลื่นสั้นประมาณ 100 - 290 nm มีพลังงานสูงที่สุด และที่สำคัญคืออันตรายที่สุด แต่พบได้น้อยเนื่องจากถูกดูดซับโดยชั้นบรรยากาศไว้ทั้งหมด จึงไม่สามารถทำอันตรายต่อผิวได้ แต่ในอนาคต ถ้าชั้นบรรยากาศถูกทำลายมากๆ รังสี UV C อาจจะสามารถทะลุชั้นบรรยากาศมาถึงพิ้นโลกได้ 

เคยสังเกตมั้ยว่า ทั้งที่ทาครีมทากันแดด SPF มากกว่า 15 แล้วแต่ไม่สามารถป้องกันความคล้ำของผิวหนังได้ ทั้งนี้เป็นเพราะความคล้ำ หรือการเกิด Tanning นั้น รังสีที่มีบทบาทสำคัญคือรังสี UVA แต่เนื่องจากรังสี UVA ไม่ได้มีบทบาทที่สำคัญในการทำให้เกิดผิวไหม้แดง (Sun burn) จึงไม่ได้รับความสนใจมากนัก ในปัจจุบันเริ่มมีข้อมูลว่ารังสี UV A นอกจากทำให้ผิวคล้ำแล้วยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังและทำลายเนื้อเยื่อคอลลาเจน อีลาสติน ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ซึ่งจะสังเกตุเห็นได้มากในบริเวณที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนผิวไหม้แดงที่เกิดภายใน 24 ชม. หลังได้รับแสงแดด แต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยอย่างช้าๆ และเห็นได้หลังจากการถูกแสงแดดนับสิบปี การป้องกันผิวแก่ก่อนวัยที่ถูกต้อง จึงควรทากันแดดตั้งวัยเด็กและต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่

  • ผลของ UV ต่อการทำลายคอลลาเจน (Collagen Breakdown)

    ในผิวหนังชั้น dermis รังสียูวีจะเข้าไปทำลายเส้นใยคอลลาเจนอย่างรวดเร็ว เกิดการสะสมของเส้นใยอีลาสตินที่ผิดปกติจนไม่สามารถทำหน้าที่ในการสร้างความกระชับยืดหยุ่นให้กับผิวหนังได้ เมื่อมีการสะสมของเส้นในอีลาสตินชนิดปกติปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เอนไซม์ชื่อ metalloproteinases จะถูกผลิตขึ้นในปริมาณมาก โดยปกติแล้วเอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ในการฟื้นฟูคอลลาเจนจากการถูกทำลายจากแสงแดด แต่ในกรณีที่ผิวถูกทำลายด้วยแสงแดดมากๆ เอนไซม์ตัวนี้กลับมีผลในทางตรงกันข้ามคือ ทำลายคอลลาเจน เกิดการสะสมของเส้นใยคอลลาเจนที่ผิดรูป เรียกว่า solar scars เมื่อผิวยังคงไม่ได้รับการป้องกันจากแสงแดด กระบวนการทำลายผิวดังกล่าวจะเกิดซ้ำซาก และ solar scar จะกลายเป็นริ้วรอย (wrinkle) ในที่สุด
  • ผลของ UV ต่อการการเกิดอนุมูลอิสระ (Free Radicals)

    อนุมูลอิสระหมายถึงออกซิเจนที่มีอิเล็กตรอนไม่ครบคู่ ทำให้ตัวมันเองไม่มีความเสถียร มันจะพยายามหาอิเล็กตรอนมาชดเชยโดยการไปแย่งอิเล็กตรอนมาจากโมเลกุลอื่น ทำให้โมเลกุลนั้นๆเกิดการขาดอิเล็กตรอนกลายเป็นอนุมูลอิสระตัวใหม่ วงจรนี้จะเกิดวนไปวนมา การเกิดวงจรนี้ซ้ำๆ มีผลทำลายหน้าที่ของเซลล์และทำให้เกิดความผิดปกติของยีนนำไปสู่มะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ตัวอนุมูลอิสระยังกระตุ้นการสร้างเอนไซม์ metalloproteinases ไปทำลายคอลลาเจน ผิวจึงเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นมากขึ้น

  • ผลของ UV ต่อการซ่อมแซมตัวเองของ DNA (DNA Repair)

    รังสี UV จะไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการซ่อมแซม DNA ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาว่าเอนไซม์ที่ชื่อ T4 endonuclease 5 (T4N5) อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการซ่อมแซม DNA และเอนไซม์ตัวนี้สามารถถูกรบกวนการทำงานด้วยแสงแดด

  • ผลของ UV ต่อระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system)

    ปกติแล้วร่างกายของเรามีระบบป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งกันทุกคน โดยการทำหน้าที่ของเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ชื่อ T Lymphocytes และ Langerhans cells ในผิวหนังชั้น dermis แต่เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดมากๆ จะมีการสร้างสารบางอย่างมายับยั้งการทำงานของ T Lymphocytes และ Langerhans cells ดังนั้นการเผชิญแสงแดดโดยไม่ได้ป้องกันจึงเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ง่ายขึ้น


รูปที่ 1 : แสงแดดทำให้ผิวหย่อนยาน เกิดริ้วรอย 

วารสาร New England Journal of Medicine  ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียง ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่มีอาชีพขับรถบรรทุก ใบหน้าครึ่งซ้ายของเขาจะต้องสัมผัสกับแดดที่ส่องผ่านกระจกรถตลอดระยะเวลา 28 ปีของการประกอบอาชีพ และนี่คือใบหน้าของเขา (รูปที่ 1) เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นมากกว่าอีกข้างอย่างเห็นได้ชัด

มีงานวิจัยในประเทศออสเตรเลียได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ทากันแดดสม่ำเสมอและกลุ่มที่ทากันแดดเป็นบางครั้ง ผ่านไป 4 ปีพบว่า กลุ่มที่ทากันแดดไม่สม่ำเสมอ มีริ้วรอยมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ

 

สารกันแดด (Sunscreen ingredients) มีกี่ประเภท  แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร 

สารกันแดดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1. chemical sunscreen สารกันแดดชนิดสารเคมี เป็นสารที่สามารถดูดซับพลังงานของแสงแดดไว้ก่อนที่แสงแดดจะผ่านลงไปที่ผิวหนัง ฉะนั้นประสิทธิภาพในการกันแดดจึงลดลงไปตามเวลาที่สัมผัสแสงแดด สารในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ซึ่งสามารถดูดซับพลังงานในช่วงที่ต่างกัน สารกันแดดประเภทนี้มีข้อด้อยคือ ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่าย ทำให้เกิดสิวได้ง่าย (ปฏิกิริยาเฉพาะบุคคล)  และอาจเหนอะหนะหากใส่ในปริมาณสูง

2. physical sunscreen สารกันแดดชนิดสะท้อนแสงออกจากผิวหนัง ได้แก่ Titanium dioxide, Zinc oxide  สารในกลุ่มนี้ ป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB มีข้อดีกว่า chemical sunscreen คือ ถูกดูดซึมเข้าผิวหนังน้อยมาก จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแพ้สัมผัส ข้อเสียคือ ทาแล้วจะขาววอกและทำให้ผิวแห้ง

 

ตารางที่ 1 แสดงรายชื่อ ประเภท และประสิทธิภาพของสารกันแดด

โปรดเลื่อนซ้ายขวา เพื่อดูตารางแบบเต็ม

FDA Monograph
Sunscreen Ingredients

UVA ProtectionUVB ProtectionChemical or Physical
Aminobenoic acid (PABA) - +++Chemical
Avobenzone +++ +Chemical
Cinoxate + +++Chemical
Dioxybenzone ++ +++Chemical
Ecamsule +++ +Chemical
Homosalate - +++Chemical
Menthyl anthranilate ++ +++Chemical
Octocrylene + +++Chemical
Octyl methoxycinnamate + +++Chemical
Octyl salicylate - +++Chemical
Oxybenzone ++ +++Chemical
Padimate O - +++Chemical
Phenylbenzimidazole - +++Chemical
Sulisobenzone ++ +++Chemical
Titanium dioxide ++ +++Physical
Trolamine salicylate - +++Chemical
Zinc oxide +++ +++Physical

 

ครีมกันแดดยี่ห้อไหนดี มาดูวิธีเลือกกันค่ะ

รูปที่ 2 คุณสมบัติของครีมกันแดดที่ดี

1. มีค่า SPF มากกว่า 30 : ค่า SPF เป็นค่าที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB  ควรมีค่าอยู่ในช่วง 30-50 ไม่จำเป็นต้องเลือก SPF มากกว่า 50 เพราะประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับ SPF 15 และ 30

2. มีคุณสมบัติเป็น Broad Spectrum : สามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB 

3. ติดทนยาวนาน :  ไม่หลุดง่าย เมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีเหงื่อมากหรือสัมผัสน้ำ

 


รูปที่ 3 ประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UVB ของค่า SPF ต่างๆ

 

จากรูปจะเห็นว่าที่ SPF 15,30,50  มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB ใกล้เคียงกัน คือที่ 93 ,97 และ 98 % ตามลำดับ ในขณะที่ SPF50 มีราคาสูงกว่า ก่อการระคายเคืองได้ง่ายกว่าหากผู้ใช้มีผิวที่ sensitive รวมถึงทำให้ผิวแห้งมากขึ้นกรณีใช้สารกันแดดเป็น physical sunscreen หรือทำให้เหนียวเหนอะหนะกรณีใช้สารกันแดดเป็น chemical sunscreen ดังนั้น แค่ SPF30 ถือว่าเพียงพอในการป้องกันแสงแดด 

 

รูปที่ 4 ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดของกันแดดที่มีคุณสมบัติเป็น broad spectrum

กันแดดที่มีคุณสมบัติเป็น broad spectrum จะสามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB  ผู้ซื้อควรเลือกซื้อโดยดูจากฉลากสินค้าหรือดูจากส่วนผสมที่ระบุไว้บนตัวผลิตภัณฑ์ โดยเปรียบเทียบกับรายชื่อสารกันแดดและคุณสมบัติในตารางที่1

 

วิธีใช้ครีมกันแดดที่ถูกต้อง

1. ใช้ในปริมาณที่เพียงพอ : เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการปกป้องสูงสุดควรทากันแดดตามปริมาณที่แนะนำ คือ 30 มล.สำหรับผิวกายหรือประมาณเต็มแก้วใบเล็ก และ 2 มล.สำหรับผิวหน้าหรือประมาณ 1/2 ช้อนชา


รูปที่ 5 ปริมาณครีมกันแดดที่เพียงพอสำหรับผิวกาย  (ซ้าย) และผิวหน้า (ขวา)


2. ใช้ให้ถูกเวลา : ครีมกันแดดกลุ่ม physical สามารถทาแล้วออกแดดได้ทันที ครีมกันแดดกลุ่ม Chemical จะต้องทาก่อนออกแดดเป็นเวลาอย่างน้อย 15-30 นาที 

3. ทาซ้ำระหว่างวันเมื่อจำเป็น : ครีมกันแดดกลุ่ม physical ให้ทาซ้ำเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีเหงื่อมาก หรือสัมผัสน้ำ ครีมกันแดดที่เป็นกลุ่ม chemical ให้ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือทาซ้ำทันทีหากมีทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีเหงื่อมาก หรือสัมผัสน้ำโดยไม่ต้องรอให้ครบ 2 ชั่วโมง

 

ที่มา : http://www.acne.org/spf-sunscreen.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้