SPF คืออะไร ยิ่งสูงยิ่งดีจริงหรือ เรามีคำตอบ

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  116103 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SPF ยิ่งสูง ยิ่งดี จริงหรือ

SPF คืออะไร?

SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor มีค่าอยู่ที่ 2 ถึง 50 หรือบางทีก็มีเป็น 100

ค่านี้บอกอะไรเรา... ตอบ ค่านี้บ่งบอกถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการปกป้องผิวหนังจากรังสี UVB

ค่า SPF 15 มีความหมายว่าในกรณีที่เราทาครีมกันแดดอย่างทั่วถึงในความหนา 2 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวหนังหนึ่งตารางเซนติเมตร เราจะสามารถตากแดดเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่าของระยะเวลาเดิมที่เคยทนได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเคยอยู่กลางแสงแดดจัดเวลาเที่ยงบริเวณชายทะเลในเวลาประมาณ 15 นาทีแล้วผิวหนังเราจึงจะเริ่มแสบแดง การทาครีมกันแดด SPF 15 อย่างทั่วถึงและในปริมาณที่เพียงพอ เราจะสามารถอยู่กลางแดดดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 15 เท่า จึงจะเกิดผิวไหม้แดง นั่นคือเท่ากับ 15x15 คือ 225 นาที หรือ 3 ชม. 45 นาที แต่เนื่องจากในการทดสอบครีมกันแดดจะทำในห้องทดลองโดยใช้หลอดไฟแทนแสงอาทิตย์ ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิ, ความชื้น, การเคลื่อนไหวของผู้ทำการทดสอบ ทำให้ค่าที่ทดสอบได้มักจะสูงกว่าการใช้จริง 

มีสิ่งหนึ่งที่อยากจะชี้ให้เห็น เพิ่มเติม... จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ขายบางราย ที่มักจะชี้แนะว่า SPF ยิ่งสูงยิ่งดี  ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ความสามารถในการปกป้องผิวจากแสงแดดไม่ได้สูงขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับค่า SPF ที่สูงขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น SPF 2 จะสามารถดูดซับรังสี UV B ได้ 50%, ถ้า SPF 15 จะดูดซับรังสี UV B ได้ 93% และถ้า SPF 34 จะดูดซับ UV B ได้   97%

 


ค่า SPF 15,30,50 มีประสิทธิภาพไม่ต่างกันมากนัก 

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่เคย.. ตกเป็นเหยื่อ ของผลิตภัณฑ์ที่เอา SPF สูงมาเป็นจุดขาย

SPF เป็นค่าที่บ่งบอกประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV B เท่านั้น ครีมกันแดดในปัจจุบันจึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันแสง UVA เพิ่มขึ้นด้วย แต่การวัดประสิทธิภาพของการป้องกันแสง UVA ยังไม่มีมาตราฐานสากลเหมือนค่า SPF สำหรับครีมกันแดดที่มีฉลากว่ากันได้ทั้ง UVA, UVB นั้น ในต่างประเทศได้มีผู้นำมาทดสอบพบว่า ความสามารถในการป้องกัน UVA ต่างกันมาก และไม่สัมพันธ์กับค่า SPF ที่สูงขึ้น เช่น ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 45 ไม่สามารถกัน UVA ได้ดีกว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 เป็นต้น ทำให้มีปัญหากับผู้บริโภคในการเลือกใช้อย่างเหมาะสม

ปัจจุบันมีบางประเทศที่ใช้วิธีวัดประสิทธิภาพในการป้องกัน UV A ด้วยวิธีที่เรียกว่า  Persistent Pigment Darkening หรือ PPD  และรายงานผลออกมาด้วยค่า PA โดย PA ย่อมาจาก Protection grade of UVA คือ ระดับการป้องกันจากรังสี UVA ไล่ระดับไปตั้งแต่ PA+ ถึง PA++++

PA+ = PPD 2- 4
PA++ = PPD 4 - 8
PA+++ = PPD 8 - 16
PA++++ = PPD  > 16 

วิธีแปลความหมายของค่า PPD ... สมมติยืนตากแดดนาน 10 นาทีแล้วทำให้ผิวหนังปกติมีอาการดำคล้ำ หากเราทาครีมกันแดดที่มีค่า PPD 8  (PA+++)  จะทำให้ตากแดดได้นานขึ้น 8 เท่า คือ 80 นาที   ผิวหนังจึงจะมีอาการดำคล้ำ

จะเห็นว่า ค่า PPD วัดจาก อาการดำคล้ำ ของผิวหนัง ซึ่งอาการนี้ทางฝั่ง EU และ USA ได้แย้งว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ตากแดดแล้วจะมีอาการดำคล้ำ จึงทำให้พวกเขาไม่ยอมรับวิธีนี้ โดยกล่าวว่า จากประสบการณ์ของพวกเขาเอง ค่า SPF ของกันแดดที่เพียงพอ และสูตรที่ผลิตอย่างดี ได้มาตรฐาน ย่อมมีประสิทธิภาพในการป้องกันทั้ง UV A และ UV B ในตัว และกันแดดเหล่านี้จะได้รับการขนานนามว่า Broad spectrum sunscreen  

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้กันแดดที่มี SPF สูงๆ?

  • จากข้อมูลข้างต้น พอจะทำให้เราทราบแล้วว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดไม่ได้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับค่า SPF ที่สูงขึ้น
  • ควรเลือกกันแดดที่มีค่า SPF เหมาะกับผิวตัวเอง ลองคำนวณ SPF ที่เหมาะกับผิวตัวเองได้โดยใช้หลักการคำนวณทีได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ... หลังจากคำนวณแล้ว อาจจะทราบว่า SPF 15 ก็เพียงพอสำหรับผิวของคนไทยอย่างเรา ยกเว้นคนที่ต้องทำงานกลางแดดทั้งวันตั้งแต่เช้าจนค่ำ SPF 15 อาจจะไม่เพียงพอ

ทำไมถึงมีกันแดด SPF สูงๆออกมาขายทั้งๆที่ SPF 15 ก็เพียงพอแล้ว?

  • เพราะแดดแรงขึ้น ใช้เป็นจุดขายได้
  • เพราะกันแดด SPF 15 มักใช้สารกันแดดชนิด Chemical sucreen เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ สารกันแดดประแภทนี้กันแดดได้โดยใช้หลักการดูดซับรังสี มีข้อเสียคือ อาจก่อให้แพ้ หลุดลอกง่าย ละลายออกมากับเหงื่อ ดังนั้น SPF 15 อาจเหลือไม่ถึง 15 และยิ่งลดลงเมื่อผ่านไประยะหนึ่งหลังจากทา

สารกันแดดชนิด Physical เช่น titanium dioxide จึงถูกนำมาใช้แทนสารกันแดดชนิด Chemical sucreen  กันแดดประเภทมีข้อด้อยคือทาแล้วหน้าจะวอก และอาจทำให้ผิวแห้ง แต่มีข้อดีที่เหนือกว่าคือคือ กันน้ำได้ดี ใช้หลักการหักเหรังสีออกจากผิว เคลือบอยู่บนผิว ไม่ถูกดูดซึมเข้าผิว จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการระคายเคือง ผลิตภัณฑ์กันแดดประเภทนี้จะมีราคาแพงกว่าแบบ chemical  จากคุณสมบัติการกันน้ำและการหักเหแสงได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ค่า SPF มีค่าสูง เช่น 30 ขึ้นไป 

ค่า SPF บนหลอดครีมกันแดด มีที่มาอย่างไร

ค่า SPF เป็นค่าที่ได้จากการทดลองในห้องทดลอง วิธีการของ SPF เป็นการกำหนดภาวะผิวหนังแดง (erythema) เนื่องจากการทำลายโดยแสงแดด เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดย FDA ในสหรัฐอเมริกา และ COLIPA ในยุโรป จะเป็นการกำหนด ปริมาณของแสง UV ที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดรอยแดงเนื่องจากแสงแดดหรือ Minimal Erythemal Dose (MED)

การทดสอบ

ทดสอบโดยการใช้โคมไฟที่ปล่อยแสงจากเครื่อง Solar ซึ่งมีทั้งแสง UVA และ UVB หลายๆความเข้มแสง ลงบนผิวหนังของอาสาสมัครที่มี phototypes I-III ตามหลักการแบ่งของ Fitzpatrick classification  โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น 2กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่มีการทาครีมกันแดด 2 มิลลิกรัม/ตารางเซนติเมตร
2. กลุ่มที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด

อ่านผลทดสอบเมื่อเวลาผ่านไป 16-24 ชั่วโมง แล้วนำไปคำนวณค่า SPF ตามสูตรนี้

SPF = ปริมาณแสงน้อยที่สุดที่ทำให้เกิดรอยแดงในขณะที่ใช้ผลิตภัณฑ์ปกป้องกัน
          ปริมาณแสงน้อยที่สุดที่ทำให้เกิดรอยแดงบนบริเวณที่ไม่ได้รับการปกป้อง


SPF  = Protected MED
          Non-protected MED


รอยแดงบนผิวหนังหลังได้รับแสง ซ้ายคือผิวที่ทากันแดด  ขวาคือไม่ได้ทากันแดด

ตัวอย่าง ถ้ามีการใช้แสงน้อยที่สุด 1,000 Jules แล้วทำให้เกิดรอยแดงบนผิวหนังที่ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกัน และใช้แสงน้อยสุด 10 Jules แล้วเกิดรอยแดงบนผิวหนัง ที่ไม่ได้ปกป้อง ค่า SPF คำนวณได้จาก

SPF = Protected MED/ Non-protected MED = 1000/10=100

การวัดค่า SPF สามารถทำการทดสอบใน Vitro test (ทดสอบในห้องทดลอง) โดยใช้โคมไฟชนิดเดียวกัน และใช้เครื่อง UV Spectrometer ในการกำหนดช่วง การดูดซึมแสง UV ผลิตภัณฑ์จะถูกทาลงไปปริมาณ  2 มิลลิกรัม/ตารางเซนติเมตร บน Poly-methyl-meta-acrylate (PMMA) ซึ่งมีลักษณะใส

การทดสอบทั้งใน Vivo และ Vitro นั้นพบว่ามี good correlation หรือสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน

 
สรุป ค่า SPF ไมได้สำคัญเสมอไป ถ้าเราใช้กันแดดแค่ SPF15-30  แต่เป็นกันแดดที่กันน้ำได้ดี และทาในปริมาณที่เพียงพอ  แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว หรือจะใช้กันแดดที่ SPF สูงๆ เช่น 50 ขึ้นไปก็ได้แต่ขอให้เป็นกันแดดที่ผสมสารกันแดดชนิดกายภาพ (physical sunscreen) เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคือง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้