Last updated: 25 ก.ค. 2565 | 87251 จำนวนผู้เข้าชม |
คำถามที่พบบ่อยเกี๋ยวกับ ผิวแพ้ง่าย
คำถามที่ 1: อาจารย์ขา มีเครื่องสำอางยี่ห้อนึงนะคะ หนูใช้ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะใช้ตัวไหน ใช้ทีไรแพ้ทุกทีเลยค่ะ เพื่อนหนูบอกว่ายี่ห้อนี้มันแรง อาจารย์ว่าจริงมั้ยคะ ?
A1: “แรง” อืมมมม... คำนี้อาจจะเป็นคำที่หลายๆคนใช้เพื่ออธิบายเครื่องสำอางที่ตัวเองแพ้ แต่ในความจริงแล้ว คำนี้ไม่มีนัยทางวิทยาศาสตร์เลย การแพ้เครื่องสำอาง หรือสารใดๆ เป็นปฏิกิริยาของแต่ละบุคคล ต่อสารแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ หรือสารที่ได้จากการสังเคราะห์ ดังนั้นหากเครื่องสำอางชนิดใด ระบุว่ามาจากธรรมชาติ 100% หรือ All Natural ก็ไม่ได้หมายความว่าใช้แล้วจะการันตีได้ว่าไม่มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการแพ้ ขณะเดียวกันเครื่องสำอางที่มีสารสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบ ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการแพ้เสมอไป
คำถามที่ 2: แล้วทำไมหนูใช้ยี่ห้ออื่นแล้วไม่เคยแพ้ แต่ยี่ห้อนี้ใช้ทีไรแพ้ทุกทีล่ะคะ ?
A2: น่าจะเป็นเพราะว่า เครื่องสำอางแต่ละยี่ห้อ มีสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางแต่ละรุ่น แต่ละแบบ คล้ายๆกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น สารกันเสีย (preservative) ถ้าบริษัทไหน เลือกใช้สารกันเสียชนิดไหนแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็มักจะใช้ตัวนั้นกับสินค้าของบริษัทเค้าหลายชนิด เนื่องจากเลือกมาดีแล้วว่าเหมาะสมทั้งคุณภาพ ราคา และง่ายต่อการจัดซื้อด้วย เท่ากับว่าวัตถุดิบชนิดหนึ่ง ซื้อมาทีเดียว สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์หลายๆชนิด แต่ถ้าเกิดแจ๊กพ๊อต เราแพ้สารตัวนี้ขึ้นมา ไม่ว่าเราจะลองสินค้าชนิดใดของบริษัทนี้ที่มีสารตัวที่เราแพ้ เราก็จะแพ้ไปหมด ทำให้รู้สึกว่าแพ้ยกยี่ห้อ แค่เห็นชื่อโลโก้ยี่ห้อนี้ ก็เริ่มมีอาการแพ้ละ (อันนี้เว่อร์ไปนิด หุหุ)
คำถามที่ 3 : ว้า อย่างนี้ก็แย่สิคะ หนูกลัวแพ้อ่ะ ไม่อยากจะลองผิดลองถูกเลย แบบนี้จะเลือกเครื่องสำอางยังไงให้ไม่แพ้ มีวิธีมั้ยคะ ?
A3: การสังเกต และการอ่านฉลาก จะช่วยให้เราเสี่ยงต่อการแพ้เครื่องสำอางได้น้อยลงนะคะ เริ่มจากหากใช้อะไรแล้วแพ้ ต้องลองอ่านฉลากดูว่ามันมีสารอะไรบ้าง ปัจจุบันกฎหมายเครื่องสำอางบังคับแล้วว่าต้องมีการระบุชื่อสารที่ใช้เป็น ส่วนประกอบในเครื่องสำอางบนฉลาก ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคก็ต้องสังเกตเองด้วยค่ะ จริงอยู่ที่ชื่อสารที่ระบุในฉลากนั้นเป็นชื่อทางเคมี ซึ่งก็อ่านยาก ออกเสียงก็ยาก แถมอ่านแล้วไม่รู้อีกว่ามันหมายถึงอะไร แต่เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกตัวหรอกค่ะ ลองสังเกตสารพวกที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้บ่อยๆก่อนก็ได้ว่า สารพวกนี้ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวหรือสารชำระล้าง สารกันเสีย น้ำหอม และ สารกันแดด
คำถามที่ 4 : ใช้เครื่องสำอางแล้วสิวขึ้น แสดงว่าแพ้หรือเปล่า?
A4 : ถ้าเกิดคุณเปลี่ยน Skincare ตัวใหม่ แล้วบังเกิดสิวผุดขึ้นให้เป็นเสี้ยนหนามหัวใจ ก็อย่าพึ่งตีโพยตีพายไปว่าคุณ “แพ้”
สิว ที่เกิดขึ้นอาจเป็นการ “อุดตัน” ซึ่ง มีสาเหตุมาจากผลิตภัณฑ์ที่คุณใช้นั้นไม่เหมาะสมกับสภาพผิว อาจจะมีความเข้มข้นมากเกินไป มีปริมาณน้ำมันหรือแว๊กซ์ที่ทำให้ผิวอุดตันได้ง่าย
บ่อยครั้งที่สิวจากเครื่องสำอางเกิดขึ้นเพราะการดูแลผิวที่ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ทำความสะอาดไม่ดีพอ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วย Exfoliate ผิวจนผิวมีเซลล์ผิวเสื่อสภาพสะสมอยู่หนาตัวทำให้ผิวอุดตันได้ง่าย แต่ถ้าสิวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการอักเสบบวมแดงเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นไปได้สูงว่าเกิดขึ้นจากอาการแพ้
คำถามที่ 5: ใช้ Skincare แล้วรู้สึกแสบผิว คันยิบ ๆ แปลว่าแพ้รึเปล่า?
A5: อาการแสบแดงส่วนใหญ่จะเป็น “การระคายเคือง” แต่อาการคัน ยิบ ๆ แสบเล็กน้อย ขณะใช้ Skincare บางชนิดนั้นเป็น "อาการปกติ"
การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า pH เป็นกรดอย่าง Vitamic C ในรูป Ascorbic Acid หรือ AHAs หรือ BHA ก็จะทำให้ผิวรู้สึกยิบ ๆ ได้บ้าง อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อผิวปรับค่า pH เป็นกลางได้แล้ว และเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ติดต่อกันสัก 1 – 2 สัปดาห์ อาการแสบยิบๆ ก็จะน้อยลงหรือหายไปเลยก็ได้
ในกรณีที่คุณใช้ยารักษาสิวที่มีคุณสมบัติเป็น Keratolytic อย่าง Tretinoin หรือ Benzoyl Peroxide ไป สักระยะหนึ่งก็อาจมีอาการระคายเคือง แห้ง ลอก เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่การแพ้ เมื่อทามอยซ์เจอไรเซอร์ที่ให้ความชุ่มชื้นก็จะรู้สึกแสบผิว บางทีอาจจะแสบมาก แต่อาการเหล่านี้ก็จะหายไปในไม่นาน
แต่ถ้าคุณไม่ได้ใช้ยารักษาสิวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ AHAs / BHA แล้ว เกิดอาการแสบ คัน แม้เวลาจะผ่านไปสักพักอาการนี้ก็ยังคงอยู่ แปลว่าผลิตภัณฑ์ที่คุณใช้มีสารก่อการระคายเคืองผสมอยู่ ให้ล้างออกและหยุดใช้ทันที (ทางที่ดีควรอ่าน Ingredient List ให้ละเอียดก่อนซื้อมาใช้)
คำถามที่ 6 : ใช้ โทนเนอร์หรือมอยซ์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมให้ความชุ่มชื้นและ Sooth (สมาน ประโลม) ผิวได้ดี แต่มีกลับรู้สึกร้อนวูบไปทั่วบริเวณที่ใช้ หมายความว่าแพ้รึเปล่า?
A6 : ถ้าผิวของคุณในตอนนั้นขาดความชุ่มชื้น แห้ง หรือมีอาการระคายเคืองจากการใช้ยารักษาสิวอย่าง Tretinoin หรือ Benzoyl Peroxide หรือใช้ Scrub ขัดผิวที่หยาบหรือใช้แรงมากไป หรือใช้ AHA / BHA ที่ เข้มข้นเกินไป เมื่อมาเจอผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นสูงหรือช่วยต้านการระคายเคืองได้ดีจะ มีอาการร้อนผ่าว หรือร้อนวูบวาบ อาจมีอาการแสบยิบ ๆ เล็กน้อยร่วมด้วย เมื่อผ่านไปไม่กี่นาทีอาการเหล่านี้จะหายไปเอง และเมื่อผิวคุณแข็งแรงเป็นปกติปราศจากความแห้งกร้านหรือระคายเคือง ผลิตภัณฑ์ตัวเดิมนั้นก็จะไม่ทำให้ผิวรู้สึกร้อนวูบวาบอีกแล้ว (แต่ถ้าผิวคุณมีอาการระคายเคืองหรือแห้งกร้านขึ้นมาทีหลัง ก็จะรู้สึกร้อนวูบวาบหรือยิบ ๆ อีก) ถ้าเป็นอาการแพ้นั้นจะต่างไปโดยสิ้นเชิง คือจะเริ่มคันหรือแสบแดงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และต่อให้ล้างออกแล้วอาการแสบแดงก็จะยังคงมีอยู่
คำถามที่ 7: จะลองใช้ครีมที่ซื้อมาใหม่ มีวิธีทดสอบอย่างไร ว่าเราจะแพ้มั๊ย ?
A7: วิธีทดสอบครีมว่าแพ้ไหม ง่ายๆ ทำดังนี้ค่ะ ทาผลิตภัณฑ์นั้นบางๆ บริเวณท้องแขนด้านใดด้านหนึ่ง วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น (ทาจุดเดิมทุกครั้ง) ติดต่อกัน 3 วัน (หรือเพิ่มเป็น 7 วันเพื่อความแน่นอน) ถ้ามีผื่น บวม แดง คัน ภายใน 7 วันก็สามารถหยุดได้และสรุปได้ว่าคุณอาจแพ้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ห้ามเอามาทาหน้าเด็ดขาด
วิธีนี้เป็นการทดสอบเบื้องต้น โดยดูผลที่ 7 วัน แต่ก็มีรายงานว่าการแพ้บางอย่างในบางคนใช้เวลานานกว่านั้น เช่นเริ่มมีอาการแพ้หลังใช้ไปแล้วหลายเดือนหรือเป็นปีและหลังจากนั้นก็มีอาการทุกครั้งที่ใช้ (หมายถึงถ้าได้แพ้แล้ว ใช้ซ้ำอีกกี่ครั้งก็แพ้ตลอด)
คำถามที่ 8 : สารอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ?
A8 : สารจำพวกแอลกอฮอล์ทั้งหลาย เช่น ethanol, denatured alcohol, ethyl alcohol, methanol, benzyl alcohol, isopropyl alcohol, sd alcohol
สารจำพวก BHA, AHA เช่น กรดผลไม้ทุกชนิด , willow bark extract
สารจำพวกชะล้างทำความสะอาด : Sodium Lauryl Sulfate (SLS)
Note : อย่าลืมว่าการระคายเคือง ขึ้นกับปัจจัยอื่นด้วย เช่นความสมบูรณ์แข็งแรงของผิวหนัง ถ้าคุณดูแลผิวดี สารพวกนี้ก็ทำอะไรคุณไม่ได้
คำถามที่ 9: ครีมที่ผสมสมุนไพร 100% ใช้แล้วจะไม่แพ้จริงหรือเปล่าคะ ?
A9: ก่อนตอบคำถาม ขออธิบายก่อนค่ะว่า ในโลกนี้ไม่มีเครื่องสำอางที่ไหนสามารถผลิตจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ครีมบรรจุเสร็จ (หมายถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่บรรจุกระปุก ขวด วางขาย) ทุกอย่างล้วนมีสารเคมีเป็นส่วนผสม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปครีม เซรั่ม เจล โลชั่น โทนเนอร์ ก็ต้องมี เบส และ สารช่วย สารเติมแต่ง เพื่อให้ขึ้นรูปเป็นเนื้อที่ต้องการและวางขายนานได้โดยไม่บูด เบส สารช่วย สารเติมแต่งเหล่านั้นเป็นสารเคมี ฉะนั้นหยุดหลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่ว่า ครีมเราเป็นสมุนไพร 100%
เข้าคำตอบสำหรับคำถามที่ถามมา : การแพ้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าส่วนผสมที่ใช้ในเครื่องสำอางมาจากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ จะสกัดมายังไง ได้มาจากไหน จากเทือกเขาสูงเสียดฟ้า หรือมหาสมุทรที่ลึกสุดๆ ถ้าเราแพ้ก็คือแพ้ การแพ้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันส่วนบุคคล เราจะไม่มีทางทราบได้ว่าเราจะแพ้อะไร ไม่แพ้อะไร จนกว่าเราจะได้ลองใช้ ในการใช้ครั้งแรกจะไม่แสดงอาการแพ้ เพราะภูมิคุ้มกันอาจยังไม่ถูกกระตุ้น เมื่อมีการใช้ซ้ำจึงจะแสดงอาการให้เห็น ซึ่งอาจจะเป็นครั้งที่ 2,3 ,... และห่างจากการใช้ครั้งแรกเป็นวัน เดือน ปี ก็ได้ค่ะ ไม่มีอะไรบอกได้ตายตัว บางคนใช้วันที่ 1-5 ไม่เป็นไร พอวันที่ 6 เริ่มแพ้ บางคนใช้วันนี้ไม่เป็นไร พรุ่งนี้จึงเริ่มแพ้ ระยะเวลาการเริ่มแสดงอาการแพ้ที่ต่างกันนี้เป็นเพราะระยะเวลาที่ภูมิคุ้ม กันถูกกระตุ้นในแต่ละคนกินเวลาต่างกัน
ประโยคนี้เครติด คุณ Pupe So Sweet
ทุกอย่าง ในโลกคือองค์ประกอบทางเคมี รวมทั้งสารสกัดจากธรรมชาติด้วย อย่าไปเข้าใจผิดว่าสารสกัดจากธรรมชาติไม่ใช่สารเคมีไม่ทำให้แพ้ อย่างที่โฆษณาและพวกคนขายเครื่องสำอางมักพูดกัน
Q10 : เป็นคนแพ้ง่ายค่ะ ใช้ครีมอะไรๆ หน้าจะดีได้สักพัก จากนั้นก็จะเป็นสิวผดทั่วหน้า (ไม่คัน ไม่มีผื่น) เปลี่ยนเครื่องสำอางกี่แบรนด์ๆก็เป็นแบบเดิมตลอด แนะนำผลิตภัณฑ์ให้หน่อยค่ะ?
A10: ลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การแพ้ง่าย และไม่ได้ระคายเคืองง่ายด้วย แต่เข้าใจผิดว่าตัวเองแพ้ง่าย ลักษณะที่แจ้งมาเป็นอาการของการมีเซลล์ผิวเสื่อมสภาพมากเกินไป อาจจะข้าม step ผลัดเซลล์ผิว เครื่องสำอางที่ใช้อาจจะมีส่วนในการอุดตันบ้างทำให้เกิดเป็นสิวผด แต่ถ้าผลัดเซลล์ผิวดี ขั้นตอนการดูแลผิวถูก การอุดตันจากเครื่องสำอาง เกิดได้น้อยมาก อีกสาเหตุของการเป็นสิวผดเป็นๆหายๆคือ เรื่องของรอบเดือนค่ะ ในวันที่ไข่ตก จนถีงวันที่ประจำเดือนมา (รวม 14 วัน สำหรับคนที่ประจำเดือนมาทุก 28 วัน) ให้ลองสังเกตใบหน้า จะพบได้ว่า เป็นช่วงที่หน้าหมองคล้ำ กร้าน และมีสีวผดมาจากไหนไม่รู้ขึ้นเกือบทั่วหน้า โดยเฉพาะ t-zone ไม่กลายเป็นสิวอุดตันเม็ดใหญ่ ไม่อักเสบด้วย ชวนให้รำคาญอย่างยิ่ง พอประจำเดือนมา อาการเหล่านี้ก็จะหายไปค่ะ
Q11 : ครีมที่มี อย. ใช้แล้วจะไม่แพ้ ?
A11 :การจดแจ้งสูตร อย. และการแพ้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
การจดแจ้งสูตร อย. โดยหลักการแล้วเป็นการแจ้งรายละเอียดส่วนผสมในสูตรแบบครบถ้วนเพื่อแสดงให้ทราบว่า ไม่มีส่วนผสมที อย.ห้ามใส่ จากนั้น อย.ก็จะอนุมัติให้เลขที่จดแจ้งมากำกับที่ตัวสินค้าส่วน การแพ้ เป็นปฎิกิริยาส่วนบุคคล แม้ว่าส่วนผสมที่ใส่จะได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว ก็อาจจะทำให้แพ้ได้ แม้แต่สารสกัดว่านหางจระเข้ ที่ร่ำลือกันว่าใช้รักษาอาการแพ้ ก็ยังมีคนที่ใช้แล้วแพ้ สารกันเสียกลุ่มพาราเบน ทั่วโลกยังใช้กัน รวมถึง อย.ไทยก็ยังอนุญาตให้ใส่ ก็ยังมีคนแพ้ ไม่มีใครทราบว่าจะแพ้หรือไม่จนกว่าจะได้ลองใช้ ถ้าเราเป็นคนแพ้ง่ายไม่เหมือนคนอื่น ก่อนจะใช้อะไรใหม่ๆในครั้งแรกให้ทดสอบการแพ้ก่อนเสมอ
ผู้ประกอบการบางราย แจ้งสูตรต่อ อย.อีกอย่าง แต่ใส่อีกอย่างก็มี ร้ายกว่านั้นอาจมีการผสม steroid และสารปรอท ไฮโดรควิโนนด้วย ต้องระวังกันให้มากนะคะ
ที่มา
คำถามที่1-3 : โดย อ.ขิม ภญ.หรรษา มหามงคล
คำถามที่4 -6 : คัดลอกจากบลอกคุณ Pupe So Sweet
คำถามที่7-11 : เรียบเรียงโดยฟาร์มาบิวตี้แคร์