Last updated: 25 ก.ค. 2565 | 51479 จำนวนผู้เข้าชม |
วิธีเลือกครีมสำหรับผิวแพ้ง่าย ระคายเคืองง่าย โดยสังเกตที่ส่วนประกอบ (ingredient lists) ของผลิตภัณฑ์ ฝึกอ่านส่วนผสมให้เป็นนิสัย ไม่ต้องรู้ทั้งหมด จำตัวเด่นๆที่มีโอกาสทำให้แพ้ก็พอค่ะ
สารที่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองที่พบบ่อยๆ ได้แก่ สารชำระล้าง น้ำหอม สารกันเสีย และสารกันแดด
1. สารชำระล้าง : ควรหลีกเลี่ยง Sodium Lauryl Sulfate (SLS) ถึงแม้จะเป็นสารชำระล้างที่ดีมาก ราคาไม่แพง แต่ก็อาจทำให้เกิดการแพ้และระคายเคืองได้ง่าย ควรเลือกใช้สารชำระล้างที่อ่อนโยนกว่าแทน เช่น Sodium Lauryl Ether Sulfate (SLES หรือ Sodium Laureth Sulfate) หรือสารชำระล้างกลุ่ม “coco” เช่น TEA cocoyl glutamate, sodium cocoyl isethionate, disodium Cocoamphodiacetate ก็มีความอ่อนโยนเช่นกัน
2. น้ำหอม: กลิ่นหอมๆชวนให้ใช้ แต่ใช้แล้วอาจแพ้ได้ ทนดมกลิ่นครีมที่ไม่หอมแค่อึดใจเดียวตอนทา ผิวจะปลอดภัยกว่าเยอะค่ะ คนแพ้ง่ายควรเลือกเครื่องสำอางที่ระบุว่า “ปราศจากน้ำหอม (fragrance free หรือ unscented)” แต่ถ้าบนฉลากไม่ระบุว่า ปราศจากน้ำหอม , fragrance free , unscented ผู้ซื้อควรอ่านส่วนผสมที่ฉลากด้วยตัวเอง มองหาคำว่า fragrance หรือ perfume ถ้าเจอก็วางได้เลย ไม่ต้องซื้อ นอกจากน้ำหอมปรุงแต่งแล้วแล้ว บางผลิตภัณฑ์ยังแต่งกลิ่นด้วยน้ำมันหอมระเหยที่มาจากธรรมชาติ เช่น geranium oil , Lavender Oil , Peppermint oil น้ำมันหอมระเหยนี้ก็ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน
ตัวอย่าง ingredient list ที่มีน้ำหอม (parfume) และน้ำมันหอมระเหย (volatile oil)
3. สารกันเสีย : สารกันเสียกลุ่มพาราเบน (parabens) มักเก่อให้เกิดการแพ้ได้สูงกว่าสารกันเสียกลุ่มอื่น ถ้าอ่านฉลากแล้วเจอคำว่า paraben ต่อท้าย เช่น propylparaben , methylparaben หรืออื่นๆที่ลงท้ายด้วย -paraben ก็ไม่ควรซื้อมาใช้ ปัจจุบันมีสารกันเสียบางชนิดที่สกัดมาจากธรรมชาติ เช่น phenoxyethanol หรือสารอย่าง Tea Tree Oil ก็ถือเป็นสารจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยกันเสียในผลิตภัณฑ์ได้เช่นกัน
ตัวอย่าง ingredient list ที่มีสารกันเสียกลุ่ม พาราเบน
ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “ปราศจากสารกันเสีย (preservative free)” เป็นไปได้มั้ย
คำว่า ปราศจากสารกันเสีย หมายถึง ผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีการเติมสารที่องค์การอาหารและยาจัดเป็นสารกันเสีย แต่ในสูตรอาจมีสารประกอบอื่นๆ ที่สามารถป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อได้ด้วยตัวมันเอง เช่น ในแอลกอฮอล์ล้างมือ มีปริมาณแอลกอฮอล์ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ มากกว่า 60% จึงไม่มีความจำเป็นต้องใส่สารกันเสียเพิ่มอีก เป็นต้น หรืออาจเป็นไปได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีสภาวะที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ เช่น มีความเป็นกรดมาก มีความเป็นด่างมาก หรือเป็นผลิตภัณฑ์สูตรน้ำมัน100% ไม่มีส่วนผสมของน้ำเลย เมื่อไม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เชื้อจึงไม่สามารถเจริญเติบโตได้
อีกปัจจัยที่ช่วยป้องกันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ให้เสียหรือมีเชื้อขึ้นก่อนเวลาอันควร ก็คือ การใช้ภาชนะบรรจุที่เหมาะสม เช่น การใช้ขวดปั๊ม แทนที่จะใช้กระปุกปากกว้าง ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงต่อการสัมผัสกับอากาศภายนอกและเชื้อโรคได้น้อยลง ยิ่งถ้าเป็นขวดปั๊มแบบสูญญากาศ ก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะผลิตภัณฑ์แทบจะไม่สัมผัสกับออกซิเจนเลย โอกาสที่ส่วนประกอบในสูตรจะเกิดออกซิเดชั่นได้ก็น้อยลง ทำให้สารสำคัญคงอยู่ ออกฤทธิ์ได้เต็มที่ กลิ่นไม่เปลี่ยน สีไม่เปลี่ยน และปลอดภัยต่อผู้ใช้
บทความแนะนำ : เครื่องสำอางปราศจากสารกันเสีย มีจริงหรือ?
4. สารกันแดด : ตัวหลักๆที่ควรเลี่ยงคือ สารที่ชื่อว่า PABA (para-amino benzoic acid) PABA เป็นสารกันแดดที่แม้ใช้ในความเข้มข้นต่ำ (5%) ก็พบว่าสามารถก่อให้เกิดการแพ้ได้บ่อยๆ ปัจจุบันจึงไม่นิยมใช้ นอกจาก PABA แล้ว สารกันแดดประเภทเคมี (Chemical sunscreen หรือ organic sunscreen) กลุ่มอื่นๆไม่ว่าจะเป็น cinnamates, benzophenones, salicylates หรือ anthranilates ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้เช่นกัน ดังนั้นหากคุณเป็นคนแพ้ง่าย และสงสัยว่าตัวเองแพ้สารกันแดด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีสารกันแดดประเภทเคมี และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะสารกันแดดประเภทกายภาพ (physical sunscreen หรือ inorganic sunscreen) นั่นคือ Titanium dioxide และ Zinc oxide แทน ซึ่งผลิตภัณฑ์แบบที่ว่านี้มักจะเป็นผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเด็ก
กันแดดไยไหม ใช้สารกันแดดชนิดกายภาพ 100% ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์
ตัวอย่าง ingredient list ที่มี สารกันแดดประเภทเคมี (Chemical sunscreen หรือ organic sunscreen)
รายชื่อสารกันแดดประเภทเคมี (ภาพจากบลอก pupe so sweet)
แถมท้าย : การใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อลดริ้วรอย หรือเพื่อผลัดเซลล์ผิวใหม่ ที่มีส่วนประกอบของสารในกลุ่ม AHA, BHA, อนุพันธ์ของวิตามินเอ เช่น retinoic acid หรือผลิตภัณฑ์ที่มี pH สูงมาก เช่นผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดขนแบบที่ทาทิ้งไว้แล้วทำให้ขนหลุดร่วง (depilatory products) ก็สามารถก่อให้เกิดความรู้สึกยิบๆที่ผิว แสบผิว หรือผิวแดงได้เช่นกัน แต่ความรู้สึกนั้นเกิดจากธรรมชาติของสารเคมีเหล่านั้นเอง ไม่ได้เกิดจากการแพ้สารเคมีตัวใด เวลาใช้จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และควรทดลองใช้กับพื้นที่เล็กๆบนผิว เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะใช้จริง
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก อ.ขิม ภญ.หรรษา มหามงคล
บทความแนะนำ : ผิวแพ้ง่าย กับ ผิวระคายเคืองง่าย ไม่เหมือนกัน อย่าสับสน บทความโดยเภสัชกร