Last updated: 25 ก.ค. 2565 | 13420 จำนวนผู้เข้าชม |
รูปแบบของการโฆษณาเกี่ยวกับ " ครีมหน้าขาว " " ครีมหน้าใส " ที่พบบ่อย ได้แก่ การโอ้อวดสรรพคุณเกินความเป็นเครื่องสำอาง เช่น ครีมหน้าขาวถาวร หรือเกินความเป็นไปได ้เช่น ขาวใน 3-5 วัน
ก่อนจะเลือกซื้อ ครีมหน้าขาว ครีมหน้าใส ผู้ซื้อควรรู้อะไรบ้าง
1. รู้ว่าทำไมแต่ละคนถึงมีสีผิวดำขาวไม่เท่ากัน
สีผิวแต่ละคนถูกกำหนดโดยยีนจากพ่อแม่หรือที่เรียกว่ากรรมพันธุ์ คนจะดำหรือขาวขึ้นอยู่กับปริมาณเม็ดสีใต้ผิว ซึ่งพ่อแม่ให้มาแต่กำเนิดผ่านตัวควบคุมที่เรียกว่า ยีน การเปลี่ยนแปลงสีผิวจึงทำได้แบบจำกัด และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบถาวรได้
จึงไม่ควรเชื่อการหลอกลวงผู้ขายที่อ้างว่ามี ครีมหน้าขาวถาวร ขาวแล้วไม่กลับมาดำ เพราะครีมบำรุง ครีมหน้าขาว ทำได้เพียงยับยั้งการสร้างเม็ดสีใต้ผิว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงยีนจากพ่อแม่ ช่วงที่ใช้หน้าก็ขาวใสขึ้น แต่เมื่อหยุดใช้ ผิวก็กลับมาเหมือนเดิม มันไม่มีอะไรฝืนธรรมชาติได้
ภาพแสดงสีผิวที่ถูกกำหนดโดยยีนของพ่อแม่
1. รุ่นพ่อแม่ parent : พ่อแม่แต่งงานกัน แม่ขาวมาก มียีน aabbcc แต่งกับพ่อดำมาก มียีน AABBCC
2. รุ่นลูก F1 generation : ลูกที่เกิดมามีสีผิวเข้มปานกลาง ยีน AaBbCc และไปแต่งงานกับ คู่สมรสที่มีสีผิวและยีนเหมือนกัน
3. รุ่นหลาน F2 generation : การเข้าคู่กันของยีนมีได้ถึง 64 ชุด แสดงออกมาเป็นสีผิวรวม 6 เฉดสี
จากการเข้าคู่ 64 ชุดยีนนี้ จำแนกความเป็นไปได้ของสีผิวรุ่นหลานตามเฉดดังนี้
สีผิวเฉด 0 และ 6 มีความเป็นไปได้เท่ากันคือ 1ใน64
สีผิวเฉด 1 และ 5 มีความเป็นไปได้เท่ากันคือ 6ใน64
สีผิวเฉด 2 และ 4 มีความเป็นไปได้เท่ากันคือ 15ใน64
สีผิวเฉด 3 มีความเป็นไปได้ 20ใน64
จากแผนภูมิแสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ที่สีผิวปานกลางทั้งคู่ อาจมีลูกค้าที่เกิดมาผิวขาวมาก จนถึงผิวดำมาก จึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมพ่อแม่ขาว ลูกถึงออกมาดำ หรือพ่อแม่คล้ำ ลูกออกมาขาว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ (ไม่ใช่ลูกคนข้างบ้าน)
2. รู้ว่าสารที่ทำให้ขาว มีอะไรบ้าง
ส่วนผสมที่ช่วยเรื่องผิวขาว แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ
2.1 สารผลัดเซลล์ผิว ที่ช่วยลอกผิวหนังชั้นขี้ไคลออกไป เช่น กรดผลไม้จากมะขาม กรดน้ำนม กรดไกลโคลิคจากอ้อย กรดเหล่านี้ ควรผสมในปริมาณพอเหมาะ ถ้าใส่มากเกินไป ผิวจะลอกแดง เหมือนเด็กดักแด้ เสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังและไหม้เกรียมจากแดด
2.2 สารลดการผลิตเม็ดสี คือพวกไวเทนนิ่งต่างๆ เช่น อาร์บูติน กรดโคจิก สารสกัดชะเอม ฯลฯ
สารเหล่านี้จะไปยับยั้งการสร้างเม็ดสี เมื่อเม็ดสีลดลง ผิวจึงดูขาวขึน แต่เมื่อหยุดใช้ สีผิวก็จะกลับไปเป็นสีเดิม
มีสารบางชนิดที่ทำให้ขาวและใสได้เร็ว แต่เป็นสารอันตรายและ อย.ประกาศเป็นสารห้ามใช้ เช่น
กรดวิตามินเอ : เป็นสารที่ช่วยให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและหลุดลอก ช่วยลดทั้งสิวเสี้ยน สิวอุดตัน และผิวยังผ่องใส นุ่มเนียนขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับ สารไฮโดรควิโนน จะช่วยให้ สารไฮโดรควิโนน ซึมเข้าสู่ผิวหนังและออกฤทธิ์ได้มากกว่าปกติ ความเป็นพิษของกรดวิตามินเอ คือ ทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง เกิดการระคายเคือง อักเสบ แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
ปรอทแอมโมเนีย : ออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase มีผลลดการสร้างเม็ดสี ทำให้ผิวขาวขึ้น และยังมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย ปรอทแอมโมเนียเป็นพิษต่อไต ระบบประสาท เยื่อบุและทางเดินหายใจ การใช้ครีมที่ผสมปรอทแอมโมเนียติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแส โลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทำลายสีของผิวหนังและเล็บมือ ทำให้ผิวบางขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแพ้หรือเป็นแผลเป็นได้
ไฮโดรควิโนน : มีคุณสมบัติในการฟอกสีผิว ทำให้ผิวขาวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว พิษคือ ทำให้เกิดการระคายเคือง และจุดด่างขาวที่หน้า บางคนอาจเป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย
ชุดตรวจไฮโดรควิโนนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
จะรู้ได้อย่างไร ว่า ครีมหน้าขาว ครีมหน้าใส ที่ใช้ มีสารต้องห้ามหรือไม่
1. ดูการโฆษณา : ถ้าผู้ขายโอ้อวดสรรพคุณมากเกินไป ให้พึงระวังว่าครีมนั้นอาจมีสารต้องห้าม
2. เช็คเลขที่ใบรับแจ้ง : ตรงกับที่จดแจ้งในระบบ อย.หรือไม่ ผู้ผลิตมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
3. หารีวิวในกูเกิ้ล อ่านก่อนซื้อ : ถ้าครีมดัง ใช้เห็นผลชัดเจน ยอดขายถล่มทลาย คนใช้เยอะ แน่นอน ต้องมีคนมารีวิวไว้แน่
4. ลองใช้ : ถ้า 1-3 ทำให้คาใจ ลองซื้อมาใช้สักชิ้น ถ้าขาวใน 3-5 วัน ให้ระวัง หรือใช้แล้วผิวลอกแสบแดง แสดงว่าอาจมีกรดวิตามินเอหรือกรดผลไม้มากเกินไป ควรหยุดใช้ อย่าเชื่อคนขายว่ามันคือขั้นตอนการปรับผิว ยังมีครีมผิวขาวที่ดีๆอีกมากมายที่ไม่ทำให้เราเจ็บตัว
5. ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสต์การแพทย์ : ค่าตรวจตัวอย่างละ 800 บาท อันนี้รู้ชัวร์ ว่ามีสารต้องห้ามหรือไม่มี
ยังมี " วิธีทำให้หน้าใส" และ " วิธีทำให้ผิวขาว" อีกหลายวิธี ที่ทำได้เองที่บ้าน อาจจะได้ผลช้าหน่อย แต่ประหยัดและปลอดภัย แม่ค้าจะรวบรวมมาเขียนเป็นบทความเรื่องต่อไปนะคะ
เช็ครายชื่อเครื่องสำอางอันตรายที่ อย.รวบรวมไว้
ที่มาของบทความบางส่วน : รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล