7 หลุมพรางเกี่ยวกับเครื่องสำอางที่ควรรู้

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  9684 จำนวนผู้เข้าชม  | 

7 หลุมพรางเกี่ยวกับเครื่องสำอางที่ควรรู้

 

7 หลุมพรางเกี่ยวกับเครื่องสำอางที่ควรรู้
[อัพเดท 29 สิงหาคม 2558]

 

 1. เครื่องสำอางที่บรรจุในขวด กระปุกสวยๆ ราคาแพง แสดงว่าใช้วัตถุดิบดี และใช้แล้วได้ผล

ไม่เป็นความจริงเสมอไป ราคาที่แพงไม่ได้บ่งบอกว่าส่วนผสมจะต้องดีเลิศ หรือหากจะดีเลิศก็ไม่ได้หมายความว่าใช้แล้วจะต้องได้ผล ราคาที่แพงเป็นมูลค่าจากการทำการตลาด จ้างนางแบบ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ โฆษณาทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้ราคาที่แพงก็ไม่ได้บ่งบอกว่าใช้แล้วจะไม่แพ้หรือระคายเคือง ขึ้นอยู่กับส่วนผสม สภาพผิวของผู้ใช้เป็นสำคัญ
 

2. เครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติ 100%  ใช้แล้วจะไม่แพ้

สิ่งที่ต้องรู้อันดับแรกคือ ในโลกนี้ไม่มีเครื่องสำอางที่ไหนสามารถผลิตจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์  ครีมทุกอย่างล้วนมีสารเคมีเป็นส่วนผสม  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปครีม เซรั่ม เจล โลชั่น โทนเนอร์ ก็ต้องมีสารช่่วยพื่อตั้งตำรับ สารช่วยเหล่านั้นเป็นสารเคมี หลายคนอ่านแล้วอาจจะงง ว่าสารช่วยมันคืออะไร ลองไปหยิบกล่องที่บรรจุครีมมาสัก  1อย่าง ขอให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้รายละเอียดตรงตาม อย.กำหนด  จากนั้นให้ดูรายละเอียดในหัวข้อ ส่วนผสม หรือ ingredients  จะเห็น ส่วนผสมอันยาวเหยียด ถ้าไม่ได้เรียนเคมีมาหรือเรียนแต่เกลียดเคมี นี่แทบจะปาทิ้ง มันอ่านไม่ออก ส่วนท้ายๆจะมีชื่อสารสกัดจากธรรมชาติห้อยอยู่ประมาณ 2-3 ตัว บางยี่ห้ออาจจะมากกว่านั้นเป็น 5-6 ตัว

การเรียงลำดับส่วนผสมดังกล่าว เป็นการเรียงตามความเข้มข้นของสารนั้นที่ผสมลงไปในครีม เมื่อชื่อสารสกัดธรรมชาติห้อยอยู่ท้ายๆ ก็หมายความว่า ปริมาณความเข้มข้นของสารสกัดธรรมชาติที่เขาใส่ๆกันลงไป ถือได้ว่ามีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนผสมอื่นๆที่เป็นสารเคมีในนั้น

อย่าเพิ่งตกใจกลัวนะคะ ที่เพิ่งจะรู้ว่าครีมๆทั้งหลายที่คุณใช้อยู่ มีส่วนผสมของสารเคมีทั้งนั้น ถึงแม้จะเป็นสารเคมีแต่ก็เป็นสารเคมีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางได้ จะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยเปรียบเทียบกับสีที่ใส่ในอาหารก็เป็นสารเคมี ดั้งเดิมอาจจะสกัดจากธรรมชาติ เช่น หญ้าฝรั่นให้สีแดง ขมิ้นให้สีเหลือง แต่ภายหลังก็เป็นสังเคราะห์ขึ้นเกือบทั้งหมด และได้รับการอนุญาตให้ใช้ในอาหารเพราะมีการทดสอบแล้วว่าปลอดภัย

อันต่อมาที่ควรรู้คือ การแพ้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าส่วนผสมที่ใช้ในเครื่องสำอางมาจากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ การแพ้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันส่วนบุคคล  เราจะไม่มีทางทราบได้ว่าเราจะแพ้อะไร ไม่แพ้อะไร จนกว่าเราจะได้ลองใช้ ในการใช้ครั้งแรกจะไม่แสดงอาการแพ้ เพราะภูมิคุ้มกันอาจยังไม่ถูกกระตุ้น เมื่อมีการใช้ซ้ำจึงจะแสดงอาการให้เห็น  ซึ่งอาจจะเป็นครั้งที่ 2,3  และห่างจากการใช้ครั้งแรกเป็นวัน เดือน ปี  ก็ได้ค่ะ

อาการแพ้ ที่สังเกตเห็นได้ชัดที่สุดคือ ผื่นแดง คัน บางคนอาจพัฒนาเป็นสิวและลุกลาม ควรแยกการแพ้และการระคายเคืองให้ออก แม้จะเป็นอะไรที่แยกยาก เพราะอาการใกล้เคียงกันมาก แต่ก็อยากให้พยายามแยกให้ได้ โดยหาเหตุผล เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้กับอาการที่เกิดขึ้น จะได้ป้องกันตัวเองได้ถูกและไม่เป็นการปิดโอกาสตัวเองที่จะได้ใช้สกินแคร์ตัวอื่น  เคยเจอหลายคน บอกว่าตัวเองแพ้วิตามินซี อะไรที่ผสมวิตามินซี ใช้ไม่ได้เลย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว แพ้ส่วนผสมอื่นที่อยู่ในสูตร

วิธีการสังเกตว่าตัวเอง "แพ้หรือระคายเคือง"

  • อาการระคายเคืองง่าย (sensitive skin) - การระคายเคืองจะขึ้นกับความเข้มข้นของส่วนผสม ถ้าลดเจือจางก่อนทา หรือล้างออกเมื่อเกิดอาการ อาการจะหายไปหรือทุเลาลง ส่วนมากจะเกิดกับคนที่มีประวัติขัด ลอกผิว ยิงเลเซอร์บ่อยๆ ไม่ค่อยทานน้ำ ไม่ชอบทามอยส์เจอร์ ไม่ทากันแดด อยู่กลางแดดนานแบบไม่ป้องกัน มีประวัติใช้สเตียรอยด์นาน ผิวจึงขาดน้ำ บางลงอ่อนแอ ระคายเคืองง่ายในที่สุด
  • อาการแพ้ง่าย (allergy prone skin) - การแพ้ไม่ขึ้นกับความเข้มข้นของส่วนผสมที่ทำให้แพ้ จะใช้ความเข้มข้นมากหรือน้อยก็แสดงอาการ

หลายร้าน อ้างว่าสินค้ามาจากธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีเจือปน ทำให้ลูกค้าสับสนและเข้าใจผิด และยังอ้างต่อว่า ใช้แล้วจะไม่แพ้ เพราะมาจากธรรมชาติ  อีกทั้งแสดงรายละเอียดส่วนผสมที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางร้านอาจจะกำหนดความโดดเด่นของสินค้าไว้อีกอย่าง แต่ส่วนผสมข้างในเป็นอีกอย่าง  เช่นเคลมว่าทำให้ผิวแข็งแรง เพราะมีส่วนผสมของสารสกัดธรรมชาติ แต่ข้างในมีแต่ส่วนผสมของสารผลัดเซลล์ความเข้มข้นสูง

นักท่องเวบบิวตี้ยุคนี้ นอกจากจะต้องระวังความเสี่ยงจากร้านที่ขายครีมที่มีส่วนผสมที่ไม่ปลอดภัย แล้วยังต้องเพิ่มความระมัดระวังร้านที่มีส่วนผสมปลอดภัย แต่ให้ข้อมูลที่ปกปิดหรือให้คำแนะนำผิดๆ 

3. ฝ้า กระ สามารถรักษาให้หายได้

ฝ้า และกระ ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แค่ทำให้จางลงและป้องกันการเข้มขึ้นได้ เพราะฝ้า กระ มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่แสงแดด การป้องกันแสงแดดจะช่วยป้องกันไม่ให้ฝ้า กระกลับมาเข้มขึ้นอีกได้ วิธีการแยกฝ้า กระออกจากกัน มีวิธีสังเกต คือ ฝ้าจะลามเป็นปื้นๆ ส่วน กระจะ เป็นจุดๆ กระจายทั่วหน้าและเข้มขึ้นเมื่อเจอแดดติดต่อกัน จางลงเมื่อเราหลบแดดติดต่อกันได้สักระยะ  พูดง่ายๆคือ เข้มๆจางๆ สลับกัน ส่วนฝ้ามักจะมีสีที่คงที่กว่า

4. กันแดด SPF ยิ่งสูงยิ่งดี

SPF เป็นค่าที่บ่งบอกประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB เท่านั้นและเป็นค่าที่ได้จากห้องทดลอง ไม่บอกอะไรเกี่ยวกับ UVA ครีมกันแดดในปัจจุบันจึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันแสง UVA เพิ่มขึ้นด้วย แต่การวัดประสิทธิภาพของการป้องกันแสง UVA ยังไม่มีมาตรฐานสากลเหมือนค่า SPF

ต่างประเทศได้มีการนำกันแดดหลายๆยี่ห้อมาทดสอบพบว่า กันแดดที่ขายๆกันอยู่และเน้นว่ามี SPF สูงๆนั้น มีความสามารถในการป้องกัน UVA ต่างกันมาก และไม่สัมพันธ์กับค่า SPF ที่สูงขึ้น เช่น ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 45 ไม่สามารถกัน UVA ได้ดีกว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 เป็นต้น ทำให้มีปัญหากับผู้บริโภคในการเลือกใช้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ความสามารถในการปกป้องผิวจาก UVB ไม่ได้สูงขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับค่า SPF ที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น SPF 2 จะสามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 50%, ถ้า SPF 15 จะดูดซับรังสี UVB ได้ 93% และถ้า SPF 34 จะดูดซับ UVB ได้   97%

แล้วทำไมผลิตภัณฑ์กันแดดในปัจจุบันจึงมี SPF สูง  เพราะ

  • ในภาวะจริงแดดข้างนอกนั้นแรงกว่าแสง UV ที่ใช้ทดสอบให้ห้องทดลองมาก หากมีการทดสอบค่า SPF ในแสงแดดจริงๆ อาจจะได้ค่า SPF ที่ต่ำกว่าในห้องทดลอง
  • คนเราจะทาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวความหนาเพียง 0.8 -1mg/cm2 เท่านั้น (เปรียบเทียบกับ 2 mg/cm2 ที่ใช้ในการ ทดสอบมาตรฐานในห้องทดลอง)และในระหว่างวัน เหงื่อที่ออกมาอาจจะชะ/ละลาย กันแดดออกมากับเหงื่อ ทำให้ความหนาของครีมกันแดดที่ทาบางลงไปเรื่อยๆ 

เหตุผล 2 ข้อดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF ที่ สูงๆ ได้รับความสนใจ เพราะเชื่อว่า จะทำให้ผิวหนังปลอดภัย จากแสงแดดมากขึ้น  โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงมากจากการสัมผัสแสงแดด เช่น คนที่อยู่ในกลุ่ม Phototype I (คนที่ผิวไวต่อแดดมาก ไหม้ง่ายมาก)  , โรคผิวหนังบางโรคที่ห้ามสัมผัสกับแสงแดด  กลุ่มคนเหล่านี้ควรใช้กันแดดที่มีค่า  SPF 50 ถึง SPF 100 บริษัทผู้ผลิตจึงเน้นที่ SPF สูงๆ เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ แต่กลายเป็นว่าได้กลุ่มคนทั่วไปมาเป็นลูกค้าด้วย

  • เหตุผลข้อที่สาม คือ ในปัจจบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางด้านคอสเมติค สารกันแดดประเภทสะท้อนกลับ (physical sunscreen) ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถกันได้ทั้งรังสี UVA, UVB และมีเทคโนโลยีที่ทำให้เนื้อครีมสามารถเกลี่ยง่ายและเกาะติดผิวได้ดีมาก ทำให้ค่า SPF ที่วัดได้จากห้องทดลองมีค่าสูงขึ้นตาม โดยทั่วไปอยู่ประมาณ SPF 50-60
  • เมื่อก่อนเราอาจจะเคยได้ยินผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องใช้กันแดดที่มี SPF สูงๆ เพราะนอกจากจะมีราคาแพงขึ้นแล้ว อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการระคายเคืองด้วย เพราะถ้า SPF สูง ก็แสดงว่าใส่สารกันแดดเข้มข้นสูงเช่นกัน คำแนะนำนี้อาจจะถูกต้องในสมัยก่อน เพราะเมื่อก่อนสารกันแดดที่ใช้กันจะเป็นชนิดดูดซับ (chemical sunscreen) ซึ่งถ้าใช้มาก ก็ก่อให้เกิดการสะสมใต้ผิวหนังและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย  แต่ปัจจุบันคำแนะนำดังกล่าวอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะได้มีการนำสารกันแดด ประเภทสะท้อนกลับ (physical sunscreen) มาใช้กันมากขึ้น และสารกันแดดประเภทนี้จะเคลือบที่ผิวภายนอกเท่านั้น ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง
  • สำหรับแดดบ้านเรา คนที่ไม่ได้มียีน Phototype I และไม่ได้เป็นโรคผิวหนังที่ห้ามสัมผัสกับแสงแดด  การใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 15-30 ก็เพียงพอแล้ว คนที่ไม่ได้ออกแดดกลางแจ้ง หรือทำงานกลางแจ้งถึงขั้นเหงื่อออก ก็ใช้ SPF ต่ำๆ เช่น 15-20  แต่ถ้าต้องออกแดดนาน มีเหงื่อออกก็ขยับ SPF สูงขึ้นมาสัก 30 การเลือกกันแดดก็สำคัญ อย่างที่บอกไปว่าจะได้ SPF ตามฉลากที่ระบุขึ้นกับความหนาที่ทาด้วย แต่ถ้าหากสามารถเลือกกันแดดที่กันน้ำกันเหงื่อได้ก็จะช่วยได้มากขึ้น 
  • สำหรับบางคนที่ใช้ครีมกันแดด SPF มากกว่า 30 อยู่ก็อย่าเพิ่งตกใจ หากครีมกันแดดนั้นใช้สารกันแดด ประเภทสะท้อนกลับ (physical sunscreen) ก็ไม่น่าแปลกที่กันแดดนั้นจะมี SPF สูง (ด้วยเหตุผลที่ได้อธิบายไปข้างต้น) และก็สบายใจได้ว่าปลอดภัยค่ะ  แต่ถ้าครีมกันแดดนั้นมี SPFมากกว่า 30 ดูส่วนผสมแล้วมีแต่ chemical sunscreen (สังเกตจากกลิ่น มักจะมีกลิ้นแรงมาก) เปลี่ยนได้แล้วค่ะ
  • ที่จริงกันแดดที่ใช้สารกันแดดประเภทสะท้อนกลับ (physical sunscreen) ควรจะใช้คำว่า SRF (Sun reflection factor) แทนจะเหมาะสมกว่า แต่ผลิตภัณฑ์กันแดดโดยทั่วไปมักจะผสมทั้ง  physical sunscreen และ chemical sunscreen ก็เลยยังใช้คำว่า SPF เป็นคำรวมๆในการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการกันแดดไปก่อน

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ SPF , การป้องกันตัวเองจาก UVA, UVB และมาตรฐานที่ใช้วัดความสามารถในการป้องกัน UV 

5. จะเลือกโทนเนอร์ต้อง alcohol free

  • ตามทฤษฎีแล้วจะระบุว่าไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแลกอฮอล์ผสม ใช้แต่ในชิวิตจริงแอลกอฮอล์ที่ผสมลงไปในสูตร (อาจจะเป็นครีม เซรั่ม โทนเนอร์)  มีปริมาณไม่มากนัก บางสูตรใส่เพื่อให้สารแอคทีพมันคงตัวอยู่ได้  ไม่ได้หวังผลในเรื่องความสะอาดหรือชำระความมัน ครีมๆหลายๆตัวในท้องตลาดก็มีแอลกอฮอล์ผสม แต่เราไม่ทราบเท่านั้นเอง รู้แต่ว่าถ้าเลือกซื้อโทนเนอร์ต้องเป็น alcohol free แต่ไม่ได้ระวังเวลาซื้อครีม เซรั่ม 
  • สำหรับคนที่มีประวัติแพ้ ระคายเคืองจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ ก็ควรเลี่ยง แต่ขอให้มั่นใจว่าแพ้แอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์จริงๆ ไม่ใช่แพ้สารอื่นๆในผลิตภัณฑ์  เพราะถ้าเข้าใจผิด เราอาจจะเสียโอกาสในการได้ใช้สกินแคร์ดีๆ ไปหลายตัวทีเดียว  อยากทราบว่าตัวเองแพ้แอลกอฮอล์จริงหรือไม่ ลองเอาเหล้า/เครื่องดิ่มผสมแอลกอฮอล์ ทาที่ผิวหน้าดู บริเวณใกล้ๆใบหูก็ได้ค่ะ ทาบางๆ  ทิ้งๆไว้ 24 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ ก็พอสรุปได้ว่า ไม่แพ้ ไม่ระคายเคือง ค่ะ  ขอใช้คำว่าพอสรุปนะคะ เพราะแอลกอฮอล์ก็มีหลายแบบ จำนวนคาร์บอนในโครงสร้างเปลี่ยนไป ชื่อก็เปลี่ยนแล้ว ... ไม่อธิบายต่อนะคะ เดี๋ยวจะยาวและลึกเกินไป เป็นเรื่องของเคมี
  • สำหรับคนที่ผิวแข็งแรง ไม่เคยแพ้ ไม่เคยเกิดอาการระคายเคืองผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ก็ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงเสมอไป อย่างที่บอก แอลกอฮอล์ในสูตรอาจถูกเติมลงไปเพื่อรักษาความคงตัวของสารแอคทีฟบางตัว หมายความว่าผิวเราจะได้รับอาหารผิวที่ยังคงคุณค่าอยู่ และก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด (ถ้าดูเป็น) ให้ดูว่ามีส่วนผสมอื่นๆในสูตรที่จะช่วยให้ ความชุ่มชื้นทดแทน ได้ หรือไม่ จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องผิวแห้ง แต่ถ้าหากใช้แล้วยังรู้สึกว่าผิวแห้งเกินไป ก็คงต้องเลี่ยงไปหาผลิตภัณฑ์อื่นที่เหมาะสมกว่าค่ะ  ;)

6. สินค้าของเราสกัดจากธรรมชาติล้วนๆ ใช่ร่วมกับเวชสำอางตามเวปหรือยาหมอไม่ได้

อันดับแรกที่อยากให้รู้ก่อนเลย คือ เครื่องสำอางที่สกัดจากธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีค่ะ
อันที่สองที่ต้องรู้ คือ ครีมที่ได้จากหมอ ไม่ใช่ยาเสมอไป
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องเวชสำอางให้ถูกต้องก่อนนะคะ เข้าใจกันผิดและเรียกผิดกันมากมายเหลือเกินค่ะ

เวชสำอางที่เราเรียกกันทั่วไป มี 2 ประเภท

  • ประเภทแรก 1. เวชสำอางในทางเครื่องสำอาง  หมายถึง เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารที่ออกฤทธิ์เปลี่ยนแปลงการทำงานของผิวได้คล้ายยา แต่ก็ยังไม่จัดเป็นยา ปัจจุบัน อย. ยังไม่มีกฏหมายควบคุมเวชสำอางกลุ่มนี้อย่างชัดเจน เพราะมันไม่ใช่ยา เพียงแต่ทำหน้าที่ได้เหมือนยา เช่น ไปยับยั้งเอนไซม์บางอย่างใต้ผิว  ส่วนมากบริษัทผู้ผลิตเวชสำอางประเภทนี้มักจะผลิตให้กับแพทย์ตามคลินิกหรือสำหรับวางขายในร้านขายยามากกว่าค่ะ แต่ตอนนี้ก็ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ขายทางเน็ตก็มาก ใครก็ขายได้ค่ะ ไม่ผิดกฎหมายเพราะมันไม่ใช่ยา  ในอนาคต อย. อาจจะมีกฏหมายออกมาควบคุม ตัวอย่างแอคทีฟที่เคลมกันว่าออกฤทธิ์ได้เหมือนยา เช่น Vitamin C , Whitening เข้มข้นมากๆ, สารอื่นๆอีกมากมาก หลายตัวสกัดจากพืช แต่เวลาเอามาขาย บอกว่าเป็นสมุนไพร ก็ถูกแต่บอกไม่หมด เอาให้ถูกก็บอกเลยว่าเป็นเวชสำอางสมุนไพร เคลียร์กว่า
  • ประเภทที่สอง 2. เวชสำอางในทางกฎหมาย หมายถึง เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ " ยา " เช่น CM-lotion (ยา clindamycin แต้มสิว), ครีมรักษาฝ้าที่ผสมไฮโดรควิโนน, กรดวิตามินเอ เหล่านี้ต้องให้หมอจ่ายในคลินิกหรือโรงพยาบาลเท่านั้นหรือถ้าจะบรรจุไว้ขายใน ร้านขายยา ก็ต้องมีเลขทะเบียน อย. ค่ะ เลขทะเบียน อย. บนเวชสำอางประเภทนี้ จะไม่มีคำว่า อย. บนฉลาก จะแสดงเฉพาะ "ตัวเลขทะเบียนยา" เท่านั้นค่ะ ส่วนบางตัวก็ไม่สามารถจำหน่ายในร้านขายยาได้เลย ต้องให้แพทย์จ่ายในคลินิกหรือโรงพยาบาลเท่านั้นเช่น ครีมที่ผสมไฮโดรควิโนน ครีมที่ผสมกรดวิตามินเอ เป็นต้น

สินค้าของร้านเราจะอยู่ใน ประเภทแรกคือ เวชสำอาง ในทางเครื่องสำอาง สามารถใช้ร่วมกับเครื่องสำอางที่วางขายทั่วไปตามเชลฟ์หรือ ในเคาน์เตอร์ห้างได้ ไม่มีปัญหา หรือแม้แต่เครื่องสำอางที่ขายบนอินเทอร์เน็ตก็ใช้ได้เช่นกัน เพราะถ้าขายบนอินเทอร์เน็ตได้ แสดงว่าเครื่องสำอางเหล่านั้นไม่ได้ผสมยา  ถ้าผสมยาเมื่อไหร่ จะจัดเป็นเวชสำอางประเภทที 2 ทันที หมายความว่า ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือขายในร้านขายยา (+/- ใบ สั่งแพทย์) เท่านั้น ยกเว้นว่าของบางร้านที่ไม่ได้เป็นหมอแอบใส่ลงไป แต่ไม่บอก อันนี้ต้องระวังเอาเองค่ะ ที่แอบใส่กันมาก ในครีมหน้าใส คือ สเตียรอยด์ และในครีมหน้าขาว คือ กรดวิตามินเอ ไฮโดรควิโนน อย่างที่สินค้าแบรนด์หนึ่งโดนจับเมื่อไม่นานมานี้

อย่าเพิ่งกลัว แค่ได้ยินว่า เวชสำอาง อย่างที่บอกค่ะ เวชสำอางมี 2 ประเภท ถ้าคุณใช้แบบแรกอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ใครก็ใช้กันค่ะ ที่สำคัญ คือ ต้องใช้ให้เป็น หมายความว่า ควรใช้ในการรักษาหรือฟื้นฟูผิว เมื่อผิวกลับมาเป็นปกติหรือดีขึ้นแล้ว ควรพักผิวและกลับมาใช้สกินแคร์ปกติทั่วไปค่ะ

เวชสำอางแบบที่หนึ่งบางตัว อาจไม่เหมาะกับคนที่มีสภาพผิวแบบ acne prone skin หรือ ผิวเป็นสิวง่าย เพราะการออกฤทธิ์ของเวชสำอางกลุ่มนี้จะไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ใต้ผิว รวมไปถึงต่อมไขมันด้วย บางคนก็เลยเป็นสิวอักเสบหลังเริ่มใช้เวชสำอาง แต่บางคนก็ไม่เป็น ขึ้นกับการตอบสนองค่ะ

ประเด็น ที่ว่าเวชสำอางไม่สามารถใช่ร่วมกับเครื่องสำอางที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ได้ ไม่เป็นความจริง  อย่าเพิ่งกลัวเพียงแค่ได้ยินว่าเป็นเวชสำอาง อย่างที่บอกไปเวชสำอางไมได้ผสมยาเสมอไป ให้แยกให้ออกและให้ใช้ให้เป็น อีกอย่าง เครื่องสำอางที่ขายบนอินเทอร์เน็ต มากกว่า 80 % ก็เป็นครีมทั่วไปไม่ใช่เวชสำอาง อาจจะมีบางร้านที่ขึ้นสโลแกนของร้านว่าจำหน่ายเวชสำอางคุณภาพสูง แต่จริงๆแล้วสินค้าในร้านมีไม่กี่ตัวที่เป็นเวชสำอาง  นอกนั้นก็เป็นเครื่องสำอางทั่วไปค่ะ แต่คนซื้ออาจจะไม่ทราบ และก็เหมาว่าสินค้าที่ซื้อเป็นเวชสำอางทั้งหมดและดูน่ากลัวไปซะงั้น 

หลายร้านอ้างว่า สินค้าในร้านสกัดจากธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีส่วนผสมสารเคมี ตรงนี้อยากให้ผู้ซื้อได้เข้าใจว่าไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน สารสกัดจากธรรมชาติล้วนๆไม่สามารถนำมาตั้งตำรับให้เป็นครีมได้  หรือบางร้านผสมสารบางอย่างที่เป็นสารสังเคราะห์ลงไปในครีม และก็มีสารสกัดจากธรรมชาติปนอยู่บ้าง แต่ตั้งชื่อครีมเป็นชื่อพืช เช่น ครีมสตอว์เบอรี่  ครีมแปะก๊วย ครีมชะเอม ครีมว่านหางจระเข้ เซรั่มกีวี เซรั่มลูกยอ ฯลฯ อันนี้ก็ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดกันมากและหลงเชื่อว่าเป็นครีมจากธรรมชาติล้วนๆ  ที่น่าตกใจคือ บางร้านยังไม่รู้เลยว่าในสินค้าตัวเองบางอย่างก็จัดเป็นเวชสำอาง

ลองสังเกตมากขึ้น อีกนิดสำหรับสินค้าที่ตั้งชื่อเป็นสมุนไพร ว่าข้างในนั้นก็มีส่วนผสมอะไรบ้าง  เช่น ตั้งชื่อว่า ครีมเชอรี่ แต่ข้างในมีส่วนผสมของ retinol ซึ่ง retinol ไม่ใช่สารที่จะสกัดได้ออกจากพืชทั้งจากเชอรี่หรือพืชอื่นๆ

เมื่อไม่ นานมานี้มีพี่คนหนึ่งเป็นลูกค้าใหม่คนหนึ่งแวะเข้ามาในร้าน ได้มาอ่านบทความนี้ ถึงกับตกใจและเมล์มาถามรายละเอียดเพิ่มเติมหลายสิบหน้า และยอมรับว่าตนเองเคยเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้าที่เคลมว่ามาจากธรรมชาติ เพราะผ่านร้านเหล่านั้นมาก่อนจะเจอเรา ด้วยความที่เขาเป็นนักท่องเวปบิวตี้ตัวยง และกลัวกับการใช้ครีมที่ไม่ได้เคลมว่ามาจากธรรมชาติ รวมไปถึงยังตั้งแง่กับเวชสำอางที่ขายตตามเว็บไซต์ต่างๆ พอได้มาอ่านบทความนี้ เจ้าตัวถึงกับบอกว่า " ตอนนี้รู้สึกดีมากๆ ไมคาใจอะไรแล้ว กับสิ่งที่เคยสงสัย แต่ก่อนก็สงสัยแต่ไม่รู้จะหาคำตอบที่ไหน  " 

ประโยคหนึ่งในการถามตอบผ่านอีเมล์ที่อาจจะทำให้ลูกค้าคนนี้เขาคลายความคาใจไปได้เยอะเกี่ยวกับครีมสมุนไพร คือ

" ถ้าร้านที่เคลมบอกว่า ครีมเรามาจากธรรมชาติล้วนๆ ธรรมชาติคือ คำตอบ วันดีคืนดีถ้าเกิดร้านๆนั้นเลิกขายไป  สาวๆบนโลกจะเอาอะไรใช้ ไม่หน้าแหกหมดหรือ ?"

สำหรับคนที่ใช้ยาหมอมาตลอด  อ่านทางนี้ค่ะ

คำว่า “ยาหมอ” มักถูกใช้เรียกครีมทุกอย่างที่ได้จากคลินิกหมอ ประหนึ่งว่าครีมหมอทุกอย่างมีส่วนผสมของ “ยา”  ซึ่ง ไม่เป็นความจริงค่ะ ครีมหมอบางตัวก็ไม่ได้ผสมยา เป็นแค่เครื่องสำอางทั่วไปเหมือนที่ขายบนเน็ตหรือขายตามห้าง เคาน์เตอร์ทั่วไปนี่ละคะ เช่น ครีมทาฝ้า (ยกเว้นหมอสั่งให้ผสมกรดวิตามินเอ ไฮโดรควิโนน)  ครีมหน้าใสที่ผสมกรดผลไม้ (ไม่รวมที่ผสมเสตียรอยด์) ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะมาอ้างว่า  “ สินค้าในร้านเราสกัดมาจากธรรมชาติ ใช้ร่วมกับยาหมอไม่ได้ “  อย่างที่บอกไป ครีมจากหมอไม่ได้ผสมยาเสมอไปค่ะ สัดส่วนของครีมในคลินิกที่ผสมยามีประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์ที่คลินิกขายเท่านั้นเองค่ะ

อย่าง ไรก็ตามด้วยเหตุผลด้านการตลาดของคลินิกผิวหนัง ที่เดิมทีมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาโรคผิวหนังเป็นหลัก  มาตอนหลังกลายมาเป็นการรักษาผิวพรรณให้ผุดผ่องงดงามกว่าที่ธรรมชาติให้มา และคลินิกจำเป็นต้องให้ลูกค้าพอใจในผลลัพธ์ บางครั้งต้อง push ยา แรงให้กับคนไข้ ที่ฮิตที่สุด คือ 1.สเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดสิวผดหรือทำให้หน้าใส/ ลดการแพ้ต่างๆ 2. ซีลีเนียม ซัลไฟด์ครีม (โคลนพอกสิวก่อนล้างหน้า) 3. กรดวิตามินเอ 4. ไฮโดรควิโนน  นี่ต่างหาก “ ยาหมอ “ ที่แท้จริง  2 ตัวหลังนี้คาดว่าปัจจุบันคงจะใช้กันน้อยลงแล้ว เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของคลินิกจะเป็นเด็กวัยรุ่น น้อยรายที่จะมีปัญหาเรื่องฝ้าลึก (ต้องลึกเกีนเยียวยาจริงๆถึงจะได้ใช้ hydroquinone)  ส่วนมากก็จะเป็นเรื่องของสิว อยากให้หน้าใส  สเตียรอยด์  ซีลีเนียม ซัลไฟด์ และกรดวิตามินเอแต้มสิวเป็นจุดๆ จึงเป็นคำตอบ สุดฮิต

จริงค่ะที่คนใช้  “ยาหมอ”   (หมาย ถึงครีมหมอที่ผสมยา เน้นว่าผสมยา) มักจะใช้ร่วมกับสกินแคร์ข้างนอกไมได้ รวมถึงของเราด้วย ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น โครงสร้างผิวถูกรบกวนด้วยตัวยามานาน จึงเกิดการตอบสนองต่อครีมข้างนอกไม่เหมือนคนอื่น หรือผิวบางมากจนใช้อะไรก็ระคายเคืองไปหมด ต้องใช้ของหมอเท่านั้น ถ้าสังเกตเห็นว่าหยุดยาหมอเมื่อไหร่แล้วสิวเห่อ หน้าลอก แสดงให้เห็นว่า คุณ “ ติดยา” ให้ปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้ เพื่อร่วมมือกันค่อยๆถอนยา

ทางร้านไม่ รับบำบัดอาการติดยาหมอ  เกินความสามารถที่จะช่วยได้ สินค้าทุกตัวของเรา ไม่มีตัวยา ที่สำคัญเภสัชก็ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องสำอางผสมยาแบบออนไลน์ได้ ต้องไปเปิดร้านยา มีใบอนุญาตเป็นเรื่องเป็นราวค่ะ และถ้าเปิดร้านยาจริง ก็สามารถจำหน่ายได้เฉพาะครีมยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเท่านั้น ถ้าเป็นครีมผสมไฮโดรควิโนน ร้านยาไม่มีขาย ต้องพบหมอเท่านั้นค่ะ

ทางออกของการเลิกยาหมอ ก็ควรคุยกับคุณหมอจะดีที่สุด อย่าเลิกเอง ยาบางชนิดต้องค่อยๆลดความเข้มข้น ไม่สามารถหยุดทันที การหยุดยาเองจะทำให้สิวเห่อขึ้นมาได้ คุณหมอจะมีวิธีถอนยาทีละนิดให้เอง  ในระหว่างการถอนยา งดใช้เวชสำอางทุกชนิดทั้งแบบที่ 1 และ 2 เพื่อเป็นการพักผิว เน้นใช้พวกบำรุงเช่น มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ไม่เน้นขาวเน้นเด้ง แต่เน้นที่การเติมน้ำและให้ความชุ่มชื้น เป็นหลัก และทากันแดด พูดง่ายๆ คือ สูงสุดคืนสู่สามัญ

ระยะ เวลาในการพักผิวจนผิวกลับมาปกติจะต่างกันออกไปในแต่ละคน ขึ้นกับสภาพพื้นฐานของผิว ยาที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ บางคนเป็นเดือนและบางคนเป็นปี แต่ยังไงก็ต้องอดทนค่ะ เอาใจช่วยคนที่กำลังติดยาหมออยู่ ขอให้เลิกยาได้ไวๆนะคะ

7. ร้านค้าที่มีเอกสารตรวจสารต้องห้ามยืนยันในเครื่องสำอาง ไว้ใจได้

การตรวจสาร ต้องห้ามในผลิตภัณฑ์มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ ให้เกิดอันตรายจากการบริโภคอาหาร เครื่องสำอาง ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ผู้จำหน่ายนำผลิตภัณฑ์ของตนส่งตรวจโดยมีประโยชน์ทางการ ค้าแอบแฝงค่ะ

เอกสารยืน ยันการตรวจสารต้องห้ามถือเป็นเอกสารที่ไม่สามารถนำมาประกาศ โฆษณาให้แ่ก่สาธารณชนภายนอกได้ค่ะ แต่เอาไว้เพื่อเป็นหลักฐานกรณีที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งจะต่างจากเอกสารอย่างอื่นที่กฏหมายกำหนดให้ต้องแสดงในที่ๆสามารถเห็นได้ ชัด เช่น เอกสารสรรพสามิตจำหน่ายสุรา เป็นต้น

ร้าน ที่มีเอกสารส่งตรวจสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เป็นเครื่องหมายการันตีความปลอดภัยได้เสมอไป เพราะการส่งตรวจนั้นเป็นการนำส่งสินค้าบางล๊อตเท่านั้น เช่น ส่งตรวจเมื่อมกราคา 2547 แต่สินค้าที่ผลิต มกราคม 2553 อาจจะมีสารต้องห้ามก็ได้ การส่งตรวจเพื่อนำมาอ้างว่าครีมในร้านปลอดภัยเป็นกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่ง บางร้านอาจจะไมไ่ด้ใส่ต้องห้ามจริงก็ถือว่าเป็นร้านที่มีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคม แต่บางร้านอาจจะไม่ เร็วๆนี้ก็มีข่าวว่าเครื่องสำอางออนไลน์ยี่ห้อหนึ่งถูกจับเพราะมีสารต้องห้าม ทั้งๆที่เครื่องสำอางยี่ห้อนั้นก็ขายมานานพอสมควร และมีการอ้างเรื่องการรับรองจาก อย.ด้วย ฉะนั้นต้องระวังให้ดีค่ะ

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้