โครงสร้างผิวหนัง บทความโดยเภสัชกร

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  116226 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงสร้างผิวหนัง บทความโดยเภสัชกร

โครงสร้างผิวหน้ง ผิวหนังประกอบด้วย 3 ชั้นหลักๆ 

1.ชั้นอีพิเดอมีส (Epidermis) เป็นผิวชั้นนอกสุด ภาษาไทยเรียกเซล์ในชั้นนี้แบบรวมๆว่า ชั้นหนังกำพร้า เพราะเป็นชั้นผิวที่ไม่มีพ่อแม่ รอวันถูกผลัดออกไปเท่านั้น  ประกอบด้วยเชลล์ที่มีการเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ  บริเวณชั้นล่างสุดของชั้นนี้ จะมีการเกิดใหม่ของเซลล์อยู่ตลอดเวลา จากนั้นเซลล์เกิดใหม่เหล่านี้จะค่อย ๆ เคลื่อนตัวมาทดแทนผิวชั้นบนสุดหรือชั้นขี้ไคล (stratum corneum) กลายเป็นเซลล์เสื่อมสภาพที่เราเรียกกันว่าขี้ไคล ซึ่งจะหลุดลอกออกไปด้วยกระบวนการผลัดผิวตามธรรมชาติ นอกจากนี้ในผิวหนังชั้นนี้ ยังเป็นที่อยู่ของ Melanocyte หรือเซลล์เม็ดสี  จะมีมากน้อยขึ้นกับเชื้อชาติ พันธุกรรม จึงทำให้สีผิวของคนเราแตกต่างกันไป ในชั้นนี้จะไม่มีหลอดเลือด เส้นประสาท และต่อมต่างๆ เป็นเพียงทางผ่านของรูเหงื่อ เส้นขนและไขมัน อีพิเดอร์มิสเปนชั้นที่มีความสําคัญมากในเรื่องของความงาม เพราะผิวหนังชั้นนี้จะบงบอกถึงความยืดหยุน และความชุมชื้นของผิว รวมทั้งเปนชั้นที่ผลิตเม็ดสีผิวอีกดวยจึงเกี่ยวข้องกับการเกิดฝ้า กระ   จุดด่างดำ โดยตรง

2.ชั้นเดอมิส (Dermis) หรือชั้นหนังแท้  เป็นผิวหนังชั้นถัดไปจากชั้นหนังอีพิเดอมีส เป็นชั้นที่อยู่ของ collagen และ elastin  หน้าที่ของ collagen คือช่วยให้ความแข็งแรงและซ่อมแซมผิวหนังที่บาดเจ็บ ซึ่งถ้าสร้างในปริมาณมากเกินไปก็จะกลายเป็นแผลเป็น ส่วน elastin ทำหน้าที่สร้างความยืดหยุ่นให้กับผิวหนัง เมื่อวัยมากขึ้นปริมาณ collagen และ elastin จะลดลง สังเกตได้จากการมีริ้วรอยเส้นเล็กปรากฏ และผิวหนังหย่อนคล้อยตามลำดับ ในชั้นนี้จะมีหลอดเลือด เส้นประสาท ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ กระจายอยู่ทั่วไป   เวลาที่เป็นสิวก็จะมีการอักเสบของผิวหนังชั้นนี้ ทำให้บางคนมีหลุมสิว รอยแผลเป็นนูน จากการซ่อมแซมของผิวที่ไม่สมบูรณ์หรือมากผิดปกติ 

3. ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutneous fat layer) หรือชั้นใต้ผิวหนัง เป็นชั้นที่รองรับแรงกระแทก ป้องกันการบาดเจ็บ ควบคุมการเผาผลาญของไขมัน ช่วยลดแรงกระทบกระแทกจากภายนอก

บทความนี้ขอโฟกัสไปที่ผิวหนังชั้น epidermis  (ชั้นอีพิเดอมีส)  เนื่องจากเป็นชั้นที่กำหนดความสวยงามของผิวพรรณเมื่อมองด้วยตาเปล่า




รูปที่ 1 ชั้น epidermis

ผิวหนังชั้นอีพิเดอมีสเป็นชั้นนอกสุดของผิว หน้าที่ของผิวหนังชั้นนี้คือป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าหรือออกจากร่างกายและห่อหุ้มร่างกาย  ผิวหนังชั้นนี้ไม่มีหลอดเลือด แต่ได้รับสารอาหารและถ่ายเทของเสียโดยการแพร่ผ่านหนังแท้ เซลล์องค์ประกอบส่วนใหญ่ของชั้นนี้คือ คีราติโนไซต์ (keratinocytes) , เมลาโนไซต์ (melanocytes) , เซลล์แลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans cells) และเซลล์เมอร์เคลส์ (Merkels cells) ผิวหนังชั้นอีพิเดอมีสแบ่งออกเป็นหลายชั้น ที่ชั้นล่างสุดคือชั้น stratum basal จะมี  basal cell  ทำหน้าที่แบ่งตัวให้กำเนิดคีราติโนไซต์ (dauther cell)

คีราติโนไซต์ที่สร้างใหม่จะมีการเปลี่ยนรูปร่างและองค์ประกอบ (Differentiation) โดยจะมีการสะสมคีราตินมากขึ้นและเคลื่อนที่ขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อเคลื่อนขึ้นมาจนถึงชั้น สตราตัม คอร์เนียม (stratum corneum) ซึ่งเป็นชั้นบนสุด จะมีชื่อเรียกว่า คอร์นีโอไซต์ (corneocyte) กระบวนการตั้งแต่การให้กำเนิดคีราติโนไซต์สู่การเปลี่ยนรูปร่างและองค์ประกอบจนสมบูรณ์กลายเป็นคอร์นีโอไซต์ เรียกว่า คีราติไนเซชัน (keratinization ) ใช้เวลาเฉลี่ย 14 วัน และคอร์นีโอไซต์จะหลุดลอกออกเป็นขี้ไคลในที่สุด กระบวนการหลุดของขี้ไคล เรียกว่า เดสเควเมชั่น (desquamation) ใช้เวลาอีก 14 วัน  รวมทั้งสิ้น 28 วัน = รอบการผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติ ในบางคนอาจมีรอบการผลัดเซลล์ถึง 45 วัน


อธิบายความแตกต่างของพัฒนาการเซลล์ในแต่ละชั้นย่อย

1. ชั้น  Stratum germinativum (Basal cell layer) ทำหน้าที่ให้กำเนิดคีราติโนไซต์ (dauther cell)

2. ชั้น Stratum spinosum  คีราติโนไซต์ในชั้นนี้จะมีรูปร่างคล้าหนามยื่นออกมาจากตัว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า spinous  cells  หรือ prickle cells  (spine , prickle หมายถึงหนามยื่น)  ในชั้นนี้มีการสร้าง organelles ชนิดใหม่ที่เรียกว่า lamella granules หรือ membrane-coating granules (MCG)  หรือ Odland bodies กระจายอยู่ทั่วไปซึ่ง MCG นี้ต่อไปจะเป็นตัวสร้างไขมัน (Stratum corneum  lipid)  ที่อยู่ระหว่างเซลล์ (intercellular  lipid)

3. ชั้น Stratum granulosum คีราติโนไซต์ในชั้นนี้จะมีส่วนประกอบในเซลล์มีรูปร่างเป็นเม็ดเล็กๆ เซลล์ในชั้นนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า granular  cells  (granule หมายถึง เม็ดเล็กๆ)   เรียก granules เล็กๆ นี้ว่า keratohyaline  granules    ประกอบไปด้วยโปรตีนที่ชื่อ  Profilaggrin และ Loricrin ซึ่งสารเหล่านี้เกี่ยวข้องกับขบวนการคีราติไนเซชั่น

  • Profilaggrin จะเริ่มสร้างในชั้นนี้ และถูกเปลี่ยนเป็น filaggrin ไปอยู่ในชั้น Stratum corneum โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนกาวยึดกับ keratin filament ทำให้เกิดเป็นร่างแหของ keratin ที่แข็งแรงสมบูรณ์ และในสภาวะยึดติดนี้ตัว filaggrin  จะไม่ถูกย่อยให้เป็น Amino acid แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผิวขาดความชุ่มชื้น filaggrin  จะถูกย่อยได้เป็น Amino acid เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น โดยทำงานร่วมกับ NMFs อื่นๆในเซลล์ ได้แก่ Sodium PCA, urea , lactic acid เป็นต้น
  • Loricrin  เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่อยู่ใน keratohyaline  granules ต่อไปจะกลายเป็นองค์ประกอบหลักประมาณ 75% ของเยื่อหุ้มคอนีโอไซต์ที่เรียกว่า cornefied  cell  envelope 
  • ทั้ง  filaggrin keratin  filament  และ cornefied  cell  envelope  จะรวมเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงของคอนีโอไซต์
  • keratohyaline  granules และ MCG เป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญ  หากเกิดความผิดปกติขึ้น หรือว่าหายไป ก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ในกลุ่มโรค ichthyosis เช่น ichthyosis vulgaris เป็นต้น ในสัตว์ทดลองที่พบว่าหากเกิดภาวะ essential  fatty acid  deficiency  จะทำให้มีจำนวน MCG ลดลง  มีไขมันออกมาเคลือบระหว่างเซลล์ (barrier lipid) ลดลง  ทำให้ water  barrier เสียไป  เซลล์จะเสียน้ำออกไปมาก ทำให้ผิวหนังสูญเสียน้ำ จึงเกิดความผิดปกติขึ้น หรือในคนที่ชอบล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือน้ำยาต่างๆ ก็จะล้าง เอา barrier lipd  เหล่านี้ออกไปหมด ทำให้  water barrier เสีย  เกิดเป็นโรคผิวหนังขึ้น


4. ชั้น  Stratum lucidum พบเฉพาะผิวหนังฝ่ามือ ฝ่าเท้า จัดเป็นชั้นผิวหนังประเภท thick skin

5.  ชั้น Stratum corneum  ประกอบด้วยคอนีโอไซต์ 25 - 30 ชั้นเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว มีรูปร่างแบน ไม่มีนิวเคลียส ประกอบด้วยสารโปรตีนที่มีความแข็งแรงและทนทานต่อสารเคมี ไม่ละลายน้ำ ที่เรียกว่าเคราตินจำนวนมาก ทำให้เซลล์มีความแข็งกระด้าง เซลล์ในชั้นนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Horny cell ... Horny หมายถึง เขาสัตว์ซึ่งมีความแข็งกระด้าง





รูปที่ 2  ภาพขยายของผิวหนังชั้น epidermis


ก่ารจัดเรียงตัวของเซล์ผิว
ชั้น stratum corneum ประกอบด้วยเซลล์คอร์นีโอไซต์ (3)  ที่เรียงตัวเป็นชั้นๆ โดยใช้ Intercellular lipid  (5) เป็นตัวประสานให้เซลล์ยึดเกาะกัน 
ภาษาอังกฤษเรียกการเรียงตัวของคอร์นีโอไซต์เป็นชั้นๆนี้ว่า  " Brick and Motar  model"   ภาษาไทยแปลว่า " แบบจำลองอิฐและปูน" โดย brick หมายถึงก้อนอิฐซึ่งเทียบได้กับคอร์นีโอไซต์ ส่วน motar หมายถึงปูนซีเมนต์ เทียบได้กับ Intercellular lipid  โดยมี corneodesmosome (2) เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเซลล์เพื่อเพิ่มความแข็งแรงไม่ให้เซลล์หลุดออกจากกัน โครงสร้างผิวชั้นนี้จึงมีความแน่นหนา ช่วยกั้นสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ผิวชั้นล่างและกั้นการระเหยของน้ำใต้ผิวออกสู่อากาศ  การใช้ AHA  เพื่อลอกเซลล์ผิว ก็คือการทำให้  corneodesmosome   ขาดออก เซลล์คอร์นีโอไซต์ก็จะหลุดลอกออกจากกันกลายเป็นขี้ไคล

natural moisturizing factors (NMFs)
ภายในเซลล์คอร์นีโอไซต์มีส่วนประกอบของ  keratin filamant ซึง เป็นโปรตีนที่แข็งแรง บวกกับมันได้ปรับตัวเองให้มีรูปร่างแบน จึงทำให้เซลล์คอร์นีโอไซต์มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และภายในเซลล์ยังมี  natural moisturizing factor (1)  ทำให้เซลล์มีความชุ่มชื้น อวบอิ่ม เต่งตึง

ตัวอย่างสารที่เป็นองค์ประกอบของ natural moisturizing factor ได้แก่
amino acid :  40% สร้างจากโปรตีนชื่อ Profilaggrin ในชั้น Stratum granulosum
Organic acid : 30% เช่น Sodium PCA สร้างจากกรดอะมิโน glutamine
อื่นๆ : lactic acid , urea


Cornified Lipid Envelope
ปลอกหุ้มคอร์นีโอไซต์หรือที่เรียกว่า Cornified Lipid Envelope (4) อยู่ถัดเข้าไปจากชั้นเยื่อหุ้มเซลล์   เป็นสารจำพวกโปรตีนที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งพัฒนามาจากสาร Loricrin ปลอกหุ้มตัวนี้เป็นตัวควบคุมไม่ให้น้ำหรือสารพวก NMFs ในเซลล์คอร์นีโอไซต์ผ่านออกมาข้างนอกเซลล์ได้

Intercellular lipid
Intercellular lipid คือ ไขมันระหว่างเซลล์ (5)  มีส่วนประกอบเป็นสารจำพวกไขมัน ซึ่งปลดปล่อยออกมาจาก lamella bodies (6) ของ granular cell ชั้น Stratum granulosum (7)  

Intercellular lipid  มีส่วนประกอบเป็นสารจำพวกไขมัน ได้แก่ เซราไมด์ 40% , โคเลสเตอรอล 20% , กรดไขมันอิสระ 20%   มีการเรียงตัวเป็น lipid bilayer  โดยหันด้านหัวส่วนที่ชอบน้ำออก และหันด้านหางส่วนที่ชอบไขมันเข้าหากัน การเรียงตัวเช่นนี้ ทำให้มันมีคุณสมบัติในการยอมให้สารต่างๆผ่านเข้าออกได้แบบจำกัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่ผิวหนังชั้นใน



รูปที่ 3 การจัดเรียงตัวของ Intercellular lipid เป็น Bilayer 


Intercellular lipid  ทำหน้าที่เคลือบเซลล์คอร์นีโอไซต์ช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำของเซลล์ (water  barrier)  ช่วยทำให้เซลล์ยึดติดกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลต่อการดูดซึมยาที่ทาลงบนผิวหนังด้วย โดยรวมแล้ว คือ มันจะพยายามป้องกันผิวให้อยู่ในภาวะสมดุลและปราศจากอันตรายมากที่สุด ซึ่งหากสารเหล่านี้ลดลง จะทำให้น้ำใต้ผิวระเหยออกข้างนอก ผิวจึงแห้งลอก แบคทีเรีย สิ่งแปลกปลอม สารก่อภูมิแพ้จากภายนอกก็จะผ่านเข้ามาและก่อโรคได้




รูปที่ 4  ภาพขยายเซลล์คอร์นีโอไซต์ในชั้น stratum corneum

ภาพแสดงคอร์นีโอไซต์ที่กำลังเกิดการแตกหักของ corneodesmosome   ทำให้คอร์นีโอไซต์หลุดลอกออก ซึงถ้าเกิดมากเกินไป จะทำให้การเรียงตัวของ คอร์นีโอไซต์ผิดปกติและชั้นผิวขาดคุณสมบัติการเป็นปราการปกป้องผิวตามธรรมชาติ (skin barrier)  ทำให้สิ่งแปลกปลอม เชื้อโรคเข้าสู่ผิวได้ และยังทำให้น้ำในร่างกายระเหยออกสู่ชั้นบรรยากาศสูง (TEWL สูง) ผิวจึงแห้ง แตกลอกเป็นขุย หรือเป็นแผ่น ลูบแล้วไม่เรียบ ทาแป้งไม่ติด ถ้าเป็นมากๆจะมีอาการคันและถ้าเกามากอาจมีเลือดซิบได้

ชั้นผิว stratum corneum จึงต้องมีความชุ่มชื้นที่พอดี จึงจะสามารถทำหน้าที่ในการเป็นปราการป้องกันตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ การบำรุงผิวไม่ถูกต้อง เช่น เน้นใช้ครีมหน้าใส ครีมหน้าขาว ที่มักผสมกรดผลไม้ซึ่งมีคุณสมบัติผลัดเซลล์มากเกินไป หรือใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ที่ไม่เหมาะกับความต้องการของผิว ล้วนทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้นและส่งผลให้ผิว ระคายเคืองง่ายและแพ้ง่าย ในที่สุด

จะเห็นได้ว่า "ระบบผิวหนัง" มีความซับซ้อนและมหัศจรรย์ การบำรุงผิวจึงควรศึกษาและเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของผิวหนังจะช่วยให้เราเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้เหมาะสมมากขึ้น

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับผิวแห้ง มอยเจอร์ไรเซอร์ที่เหมาะกับผิวเพิ่มเติมได้ --> มอยเจอร์ไรเซอร์คืออะไร มีกี่ประเภท 
 

เซลล์อื่นๆที่พบในชั้น epidermis
เช่น Dendritic cells เป็น กลุ่มเซลล์ที่มีรูปร่างคล้ายดาว  มี cytoplasm ยื่นออกไปจากตัวเป็นแขนขาที่เรียกว่า dendritic processes  ในชั้น epidermis นี้ ประกอบไปด้วยเซลล์ 3  ชนิด  คือ

[1.] Melanocyte  เป็นเซลล์สร้างเม็ดสี

เป็น dendritic  cell  ชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจาก neural  crest  cells  จัดเป็น immigrant  cells  คือ   เซลล์ที่เดินทางมาจากที่อื่นแล้วมาอาศัยอยู่ที่ผิวหนัง   ในชั้น   epidermis   ใน hair  follicle และใน  dermis  เมื่อมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาจะเห็น melanocyte  ในชั้น epedermis  อยู่ตรง basal cell layer โดยแทรกอยู่ระหว่าง  basal  cell  โดยประมาณ 10 basal cells จะพบ melanocyte อยู่ 1 ตัวภายใน melanocyte  มีเม็ดสี  (melanin) อยู่ในถุงหุ้มที่เรียกว่า melanosome  แล้ว  melanocytes จะส่ง melanin ไปให้ keratinocytes  ที่อยู่ชั้นบนกว่าผ่านไปทาง dendritic  processes  ที่แทรกอยู่ระหว่าง keratinocytes ทำให้เกิดเป็นสีผิวหนังขึ้น (skin color) ซึ่งจะพบว่าจำนวนของ melanin ใน cytoplasm ของ keratinocytes มีปริมาณมากว่าจำนวน melanin ใน melanocytes ข้างเคียง

Melanocytes มีรูปร่างคล้ายดาว Cytoplasm ติดสีซีด (Pale-staining Cytoplasm) nucleus รูปร่าง กลม และมี melanosome อยู่ภายในเซลล์       Melanosome มีรูปร่างกลม มีถุงหุ้ม (membrane-bound)  มีหน้าที่สร้าง melanin melanosome สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะขึ้นกับจำนวน melanin ที่ผลิต (Degree of melanization) (Stage 1-4) นอกจากนี้ melanosome ที่มี melanin ต่างชนิดกันก็จะมีรูปร่างแตกต่างกัน  คือ ถ้า melanosome ที่สร้าง melanin สีน้ำตาล-ดำ (Brown-black Eumelanin)  จะมีรูปร่างเป็นวงรี (elliptical)   และ  melanin   เรียงตัวภายในเซลล์ตามยาว   (internal  organization  of  longitudinally oriented, concentric  lamellae)  ส่วน melanosome  ที่ผลิต melanin  สีเหลือง-แดง (yellow-red phenomelanin)  จะมีรูปร่างกลม (spheroid  shape)  และ melanin จะบรรจุในถุงเล็กๆ อีกที (microvesicular  internal  structure) โดยพันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดขนาดของ melanosome และคน ผิวดำจะมี melanosomes  ขนาดใหญ่กว่าคนผิวขาว
      
การย้อมชิ้น เนื้อด้วย H&E stain  จะเห็น melanocyte  เป็นเพียงเซลล์กลมๆ ใสๆ  แต่หากต้องการเห็นรายละเอียดภายในเซลล์มากขึ้น   ควรย้อมชิ้นเนื้อด้วยสาร  1,3,4-dihydroxy-phenylalanine (DOPA) ซึ่งสารนี้จะถูก oxidize โดยเอ็นไซม์ tyrosinase ที่บรรจุอยู่ใน cytoplasm ของ melanocytes เกิดเป็นตะกอนสีน้ำตาลของ melanin เกิดขึ้น

Epidermal-melanin  unit  หมายถึง  จำนวน melanocyte 1 ตัว จะส่ง melanin ไปให้ยัง keratinocytes อยู่ข้างเคียง 36 ตัว  ผ่านทาง Dendritic  processes  ซึ่งจะเห็นว่าคนต่างเชื้อชาติสีผิวจะมีจำนวน  epidermal  metanin  units    ในปริมาณใกล้เคียงกัน   ส่วนจำนวน melanocytes จะแตกต่างกันในแต่ละบริเวณของร่างกาย จะหนาแน่นมากที่สุดบริเวณอวัยวะเพศ,  รองลงมาคือบริเวณใบหน้าและศีรษะ  ส่วนบริเวณอื่นๆ นั้น ถ้าเป็นตำแหน่งที่โดนแสงแดดเป็นประจำ (sun-exposure  areas)  ก็จะมีจำนวน melanocytes มากกว่าบริเวณที่ไม่โดนแสงแดด (non sun-exposure  areas)  เช่น  บริเวณหลัง, ก้น, ท้อง, ด้านในของแขน    เป็นต้น


โดยปกติ melanocytes  จะไม่แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเอง  (in situ)   แต่ถ้ามีปัจจัยเหล่านี้มากระตุ้น ได้แก่แสงแดด, ฮอร์โมน melanocyte-stimulating  hormone,  sex-hormone, inflammatory mediators ตั้งครรภ์ และวิตามิน D3  ที่สร้างภายใน  epidermis   ปัจจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นของ melanocyte,    melanocyte  จะมี dendritic  processes เพิ่มมากขึ้น,  มีการสร้าง melanin เพิ่มมากขึ้น (melanogenesis) และมีการส่ง melanin ไปให้ keratinocytes เพิ่มมากขึ้น ผลก็คือสีผิวจะเข้มขึ้นกว่าเดิม นั่นคือ สีผิวของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับขนาด, ชนิด,   จำนวนของ melanosome,  จำนวน melanin ใน keratinocytes  และความสามารถของ melanocytes  ในการผลิต melanin (Melanogenesis)

สีผิวหนัง (skin color)  แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. Constitutive skin color    คือ สีผิวที่เป็นมาตั้งแต่เกิด  โดยมีพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด และไม่มีปัจจัย อื่นมาเกี่ยวข้อง นั่นคือสีผิวของทารกแรกเกิด แต่ในผู้ใหญ่สามารถดูสีผิวชนิดนี้ได้บริเวณก้น (Buttock)  หรือบริเวณที่ไม่ได้โดนแสงแดดเป็นประจำ
2. Facultative skin color  คือ สีผิวที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีปัจจัยเหล่านี้มากระตุ้น คือ แสงแดด, ฮอร์โมน    alpha melanocyte-stimulating  hormone (MSH),  sex-hormone,  inflammatory mediators, การตั้งครรภ์,วิตามิน D3 ที่สร้างภายใน epidermis มากระตุ้น และ Tanning capacity ของคนแต่ละเชื้อชาติ  ตัวอย่างเช่น สีผิวบริเวณแขนด้านนอกจะเข้มข้นกว่าตอนแรกเกิด    เนื่องจากโดนแสงแดด,  สีผิวบริเวณลานหัวนม (areoalr)  และหัวนม (nipple) จะดำขึ้นหลังจากตั้งครรภ์, หรือสีผิวบริเวณที่เคยเป็นสิวอักเสบหลังจากสิวหายแล้วทิ้งรอยดำไว้  เป็นต้น
นอกจากนี้สีผิวยังอาจเปลี่ยนแปลงได้จากอิทธิพลของสิ่งต่อไปนี้ คือ
1. สีเหลืองของผิวหนัง เกิดจากสาร carotene  pigment  มาสะสมที่ผิวหนังมากกว่าปกติ ในคนที่กิน
มะละกอมากเกินปกติ หรือคนที่ป่วยเป็นโรคดีซ่าน (jaundice) ก็จะเห็นผิวเป็นสีเหลืองได้
2. สีแดงของผิวหนังเกิดจาก oxyhemoglobin  ในเม็ดเลือดแดง
3. สีเขียวคล้ำ, น้ำเงิน  เกิดจาก Deoxyhemoglobin  ในเส้นเลือด


[2.] Markel  cell  เป็นเซลล์เกี่ยวกับการรับความรู้สึก

เป็น Dendritic  cell  ที่พบอยู่บริเวณชั้น Basal cell  layer พบในบางบริเวณของร่างกาย เซลล์ชนิดนี้จะตรวจพบได้ในระดับกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนเท่านั้น  ลักษณะทั่วไปคล้าย keratinocytes  มี desmosome ยึดติดกับเซลล์ข้างเคียง   nucleus มีรอยเว้ามาก  บางครั้งอาจพบว่ามี paracrystalline aggregrations   ที่มีลักษณะเป็นเส้นบรรจุอยู่ภายใน nucleoplasm   ส่วนใน cytoplasm จะบรรจุกลุ่มของ filament อยู่รอบๆ  nucleus  และขอบๆ ของเซลล์  (perinuclear  filament  protein) แต่ลักษณะที่สำคัญ ที่สุดคือพบ neurosecretory  granule  อยู่ภายใน cytoplasm

Merkel  cells  จัดว่าเป็น slow-adapting  type 1 mechanoreceptor  มีหน้าที่รับความรู้สึกสัมผัส (high tactile  sensitivity)  เมื่อรับ stimuli มาจาก keratinocyte   แล้ว Merkel cells จะปล่อยสารพวก cathecolamine ที่บรรจุอยู่ใน neurosecretory  granules  ออกมาซึ่งเป็น neurotransmitter ชนิดหนึ่ง

Merkel  cells  จะพบเฉพาะบางบริเวณที่รับสัมผัส (high tactile sensitivity) เท่านั้น  ได้แก่ บริเวณปลายนิ้ว (digits),   ริมฝีปาก (lips),  ในช่องปาก (regions  of  oral  cavity)  และบริเวณ outer root sheath  of  hair  follicles


[3.] Langerhans  cell เป็นเซลล์เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง (skin immune cell)

เป็น Dendritic cells พบอยู่ในชั้น  Stratum spinosum  ดยแทรกอยู่ระหว่าง keratinocyte เป็นเซลล์ที่มีต้นกำเนิดจากไขกระดูก (bone  marrow)  ในชิ้นเนื้อที่ย้อมด้วย H&E stain  จะพบว่าเซลล์นี้มี nucleusที่หยักลึกและติดสีเข้มล้อมรอบด้วย cytoplasm  สีซีดใส  ถ้าย้อมด้วย gold chloride เซลล์จะติดสีเข้มและมีรูปแฉก ถ้าดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนจะพบว่าภายใน cytoplasm จะบรรจุ rod-shaped granulesที่มีชื่อว่า Birbeck  granules  สิ่งที่แตกต่างจาก keratinocytes  และ Merkel cells  คือ จะไม่พบ desmosome,  melanosome  และ tonofilament  ใน cytoplasm  ของ  Langerhans  cell หน้าที่ของ เซลล์ชนิดนี้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง (skin immune  system)  โดยที่ผิวของเซลล์จะมี receptors  ต่างๆ  เช่น CD1a,  C3 receptor,  Fc receptor  เป็นต้น โดยเป็นเซลล์ที่มีบทบาทเกี่ยวกับ allergic  contact dermatitis  และ cell-mediated  reaction  (Delayed  type  hypersensitivity)  ของผิวหนัง


เรียบเรียงใหม่โดย pharmabeautycare.com สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต
แหล่งข้อมูล
1. เว็บไซต์คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ 
2. wikipedia

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้