Last updated: 25 ก.ค. 2565 | 65967 จำนวนผู้เข้าชม |
บทความนี้คัดลอกมาจากเว็บไซต์คณะเภสัช ม.มหิดล
สิวผด มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น สิวเทียม สิวยีสต์ สิิวเชื้อรา เป็นปัญหากวนใจวัยรุ่นหลายๆคน หรือแม้แต่วัยผู้ใหญ่เองก็พบได้เช่นกัน โดยเฉพาะสิวบนใบหน้าที่อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจได้ ด้วยเหตุนี้ บางคนตัดสินใจไปพบแพทย์ผิวหนัง ขณะที่บางคนเลือกที่จะค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตซึ่งมักมีผู้มาเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับสิว แล้วทดลองรักษาด้วยตัวเอง แต่หากผื่นที่เราเห็นว่าคล้ายสิวนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่สิวทั่วๆไปที่เราคุ้นเคย ยารักษาสิวแบบเดิมที่เราใช้อยู่อาจไม่ช่วยให้หายเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันในเว็บไซต์ต่างๆ มีการกล่าวถึงสิวชนิดหนึ่งเรียกว่า “สิวเชื้อรา” ทั้งในแง่ของการให้ความรู้และการตั้งกระทู้ข้อสงสัย เช่น เป็นสิวทำไมหมอจ่ายยาฆ่าเชื้อรา เป็นต้น เรามาดูกันว่า สิวแบบนี้มีจริงหรือไม่ แล้วจะรักษาอย่างไร
สิวเชื้อราคืออะไร
“สิวเชื้อรา” หรือ “สิวยีสต์” อาจเป็นคำที่สื่อความหมายให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากผื่นที่พบบนผิวหนังนั้นมี ลักษณะคล้ายสิว และยังบ่งบอกถึงสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อรา แต่แท้จริงแล้ว ในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า “รูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา" (Malassezia folliculitis เดิมเรียกว่า Pityrosporum folliculitis) โดยอาจพบเดี่ยวๆ หรือ พบร่วมกับสิวทั่วๆไปก็ได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดสิวเชื้อรา
เชื้อที่มักเป็นสาเหตุของโรคนี้ ได้แก่ เชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่ม “มาลาสซีเซีย (Malassezia species)” โดยทั่วไปจะพบเชื้อชนิดนี้ที่ผิวหนังของทุกคน แต่หากเชื้อมีการเจริญเติบโตมากผิดปกติ จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น เกลื้อน โรครังแคอักเสบ (seborrheic dermatitis) รวมทั้งโรครูขุมขนอักเสบ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีผิวมัน เหงื่อออกง่าย ผู้ที่อาศัยในสภาพอากาศร้อนและอับชื้น หรือผู้ที่มีรูขุมขนอุดตันจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ถือว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดรูขุมขนอักเสบจากเชื้อราได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน (ทั้งชนิดรับประทานและทา) โดยเฉพาะยากลุ่มเตตร้าซัยคลิน (tetracyclines) หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจส่งเสริมให้เกิดรูขุมขนอักเสบจากเชื้อราได้ง่ายเช่นกัน
ลักษณะและอาการของสิวเชื้อรา
โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือ สิวเชื้อรา ส่วนใหญ่มักเกิดที่ผิวหนังบริเวณหน้าอก แผ่นหลัง แต่สามารถพบได้ที่ไหล่ คอ และใบหน้า เป็นต้น ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ (papules) มีขนาดใกล้เคียงกัน (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร) และจากการที่เชื้อรา มาลาสซีเซีย เจริญเติบโตมากผิดปกติบริเวณรูขุมขน (hair follicle) จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเป็นตุ่มแดงและอาจมีตุ่มหนอง (pustules) ร่วมด้วย ดังแสดงในรูปภาพ แต่ไม่มีลักษณะของสิวอุดตัน (comedones) และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคันบริเวณที่เป็นผื่น โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนชื้น หรือช่วงที่ต้องทำกิจกรรมมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ซึ่งแตกต่างจากสิวทั่วไปที่ไม่ค่อยมีอาการคัน
ยาที่ใช้รักษาสิวเชื้อรา
เนื่องจากสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา ดังนั้น ยาที่เหมาะสมในการรักษาจึงเป็นยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาทาผิวหนัง และยารับประทาน โดยหากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือสิวเชื้อรา การรักษามักเริ่มด้วยยารับประทาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาทา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยาสามารถแพร่กระจายไปยังรูขุมขนซึ่งอยู่ลึกลงไปในชั้นหนังแท้ได้ดี ขณะที่ยาทามักใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยารับประทาน หรือใช้หลังจากที่ผื่นหายแล้ว เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ตัวอย่างยาที่มีการใช้รักษาโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา แสดงดังตาราง โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษาประมาณ 1-2 เดือน แต่บางกรณีอาจใช้เวลารักษานานกว่านั้น เช่น กรณีที่เป็นซ้ำบ่อยๆ
อาการข้างเคียงและข้อควรระวังของยาฆ่าเชื้อรา มีอะไรบ้าง
กรณียาทาผิวหนังมักไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจพบอาการระคายเคืองบริเวณที่ทายา เช่น ซีลีเนียม ซัลไฟด์ มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังลอก (keratolytic activity) ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือผิวหนังถลอกได้ จึงควรทาทิ้งไว้เพียง 5-10 นาที แล้วล้างออก เป็นต้น ส่วนยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทาน ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาอันดับแรก (first-line drug) สำหรับรักษาโรคติดเชื้อรา เนื่องจาก 1) พบรายงานว่ายามีผลทำลายตับ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 2) ยากดต่อมหมวกไต ทำให้การสร้างฮอร์โมน คอร์ติโค-สเตียรอยด์ (corticosteroids) ลดลง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย และ 3) ยามีผลรบกวนการออกฤทธิ์ของยาอื่นหลายชนิด (หรือยาตีกัน) ดังนั้น หากใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามเฝ้าระวังเหตุการณ์ข้างต้นจากแพทย์ผู้ทำการรักษา
สำหรับยาฟลูโคนาโซล และไอทราโคนาโซล อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แต่ไม่พบในผู้ป่วยทุกคน นอกจากนี้ ยาทั้งสองชนิดอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้เช่นกัน แต่พบน้อย อีกทั้งต้องระวังเรื่องยาตีกัน เช่น (1) เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างเพียงพอ ควรรับประทานยาไอทราโคนาโซล (แคปซูล) หลังอาหารทันที และห้ามใช้ร่วมกับยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (2) ทั้งยาฟลูโคนาโซล และไอทราโคนาโซล มีผลรบกวนการออกฤทธิ์ของยาอื่นหลายชนิดที่อาจมีการใช้ร่วมกัน เป็นต้น
จากข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรามีลักษณะคล้ายสิวมาก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนัง ซึ่งจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และบางกรณีอาจต้องนำเนื้อเยื่อหรือหนองจากบริเวณที่เป็นผื่นไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าผื่นที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากเชื้อราชนิดดังกล่าวจริง นอกจากนี้ การใช้ยาแต่ละชนิด ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร ผู้ป่วยไม่ควรวินิจฉัยโรคหรือทดลองใช้ยาด้วยตัวเอง เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาได้