Last updated: 25 ก.ค. 2565 | 70615 จำนวนผู้เข้าชม |
AHA คืออะไร
AHA (เอเอชเอ) ย่อมาจากคำว่า alpha hydroxy acid หมายถึงสารประกอบที่มีฤทธิ์เป็น กรด เป็นสารที่สกัดจากผลไม้ธรรมชาติ เช่น กรด ซิตริกจากมะนาว ส้ม และส้มโอ กรดมัลลิกจาก แอปเปิ้ล กรดไกลโคลิกจากอ้อย กรดแล็กติกจาก นมเปรี้ยว กรดทาร์ทาลิกจากมะขาม และไวน์
ในประวัติศาสตร์สมัยพระนางคลีโอพัตรา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุด พระนางโปรดการอาบน้ำนมมากๆ เพราะในน้ำนมมีกรดแล็กติก ช่วยให้ผิวพรรณผุดผ่อง หรืออย่างพระนางมารีอังตัวเนส พระราชินีในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ทรงชอบเอาไวน์แดงมาอาบเพื่อให้ผิวสวย
ปัจจุบันเอเอชเอหรือกรดผลไม้ นิยมใช้กันมากในวงการแพทย์ผิวหนัง เพื่อใช้รักษาสิว ฝ้า รอยด่างดำ ริ้วรอยเหี่ยวย่น และติ่งเนื้อเล็กๆ บริเวณใบหน้าและลำคอ และวงการเครื่องสำอาง AHA ได้รับการขนานนามว่าช่วยชะลอริ้วรอยไม่ให้แก่ก่อนวัย
ผิวพรรณของ ผู้หญิงเราจะดูสดใส เต่งตึง มีน้ำมีนวลมากที่สุดก็ในช่วงวัยอายุ ๒๐ ปี ซึ่งเซลล์ต่างๆ จะทำหน้าที่ของมันอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเซลล์เก่าตายเซลล์ใหม่ก็ขึ้นมาทดแทนที่ได้ทันที แต่พออายุย่างเข้าเลข 3 เลข 4 กระบวนการตามธรรมชาติ นี้ก็เริ่มมีปัญหา การแบ่งตัวของเซลล์จะไม่ค่อยดี เซลล์เก่าที่ตายแล้วมักไม่ยอมหลุดลอกออกไปง่ายๆ ขณะเดียวกันก็เกาะรวมกันไม่ยอมให้เซลล์ใหม่ๆขึ้นมาทำหน้าที่หมุนเวียน ทำให้ใบหน้าที่หมองคล้ำด้วยแสงแดดและมลภาวะยิ่งดูแย่ขึ้นไปอีก
ด้วย เหตุนี้เอง กรดผลไม้จึงเข้ามามีบทบาทในการ ช่วยผลัดเซลล์ผิว ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เซลล์ใหม่ๆ (บริเวณหนังกำพร้า)เจริญขึ้นมาแทนที่ พร้อมทั้งช่วยซ่อมแซมและเสริมสร้างเนื้อเยื่อ (คอลลาเจน) ในชั้นหนังแท้ด้วย (ต้องใช้เป็นระยะเวลานานพอสมควรจึงจะได้ฤทธิ์กระตุ้นคอลลาเจน) เป็นผลให้ผิวหน้าดูเรียบเนียน และขาวสดใสกว่าเดิม
สิ่งที่ควรรู้ ป้องกันการหลงเชื่อคำโฆษณา
ริ้ว รอยต่างๆบนใบหน้าของเราที่สามารถรักษาได้ด้วยกรดผลไม้นั้น ต้องเป็นริ้วรอยที่ไม่ลึกนัก ถ้ารอยตื้นๆ มักจะดีขึ้นภายใน ๖ สัปดาห์ ส่วนริ้วรอยขนาดปานกลางจะใช้เวลาประมาณ ๓ เดือนขึ้นไป แต่หากริ้วรอยลึกมากกรดผลไม้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ คงต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง
สำหรับ ความเข้มข้นของกรดผลไม้ที่จะให้ผลตามที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องมีความเป็นกรดและต้องมีความเข้มข้นมากกว่า 10เปอร์เซนต์ up ถ้ามีความเข้มข้น มากก็ย่อมได้ผลมากขึ้น แต่ความระคายเคืองของผิวหนังก็จะตามมาด้วย ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผิวหนัง จะเห็นว่าการทำ treatment ในคลินิก จะมีการใช้ AHA ที่มีความเข้มข้นสูงถึง 50,70 เปอร์เซนต์ และควรมีความถี่ในการทำอย่างเหมาะสม (ถือเป็นการใช้เพื่อรักษา ไม่ใช่การบำรุงตามปกติ)
ผลข้างเคียงของ AHA
กรด เอเอชเอในปริมาณความเข้มข้นสูง แม้จะมีคุณสมบัติที่ดีในการขจัดเซลล์ผิวแก่ๆ ให้หลุดลอกเร็วขึ้น ทำให้เซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ เป็นผลให้ผิวหนังดูเรียบเนียน สดใสขึ้น แต่ขณะเดียวกัน กรดเอเอชเอในปริมาณความเข้มข้นสูงทำให้ผิวเกิดความระคายเคือง เกิดผื่นคัน และไวต่อแสงแดด(แพ้แสงแดด)ได้มากเช่นกัน บางครั้งจะทำให้เกิดรอยดำ โดยเฉพาะในผิวคนไทย ซึ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้นด้วย การใช้ AHA ที่ถูกต้อง จึงไม่ควรละเลยการทากันแดดอย่างสม่ำเสมอและทาในปริมาณที่เพียงพอ
การ ที่ AHA ไปทำลายเซลล์ผิวชั้นนอกสุด ซึ่งมีหน้าที่ปกป้อง รักษาความชุ่มชื้น เซลล์ผิวชั้นล่างๆ ป้องกันการติดเชื้อ ต่อต้านมลภาวะ โดยเฉพาะแสงยูวี ทำให้มีข้อสงสัยว่า การใช้เป็นระยะเวลานานจะมีผลต่อผิวหนังอย่างไร ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันแน่นอนว่า การใช้ AHA นานๆ จะเป็นอันตรายหรือไม่ ดีที่สุด ก็ควรใช้ในความเข้มข้นที่ไม่สูงเกินไป หรือใช้ทาเฉพาะจุด
คำแนะนำในการใช้ AHA
1. เลือกใช้เอเอชเอที่รู้ความเข้มข้นของสูตร ใช้ในระดับที่ไม่สูงจนเกิดความระคายเคือง
2. ใช้ครีมกันแดดร่วมด้วยเป็นประจำทุกวัน
3. หากใช้แล้วเกิดระคายเคืองหรือเกิดผื่น ควรหยุดใช้ทันที แล้วรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
4. การใช้เอเอชเอต้องใช้อย่างต่อเนื่อง หากหยุดใช้ ผิวก็จะเหมือนเดิม
5. สำหรับวัยสาวที่ผิวพรรณดูดีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เลย
BHA คืออะไร
BHA (บีเอชเอ) ย่อมาจากคำว่า beta hydroxy acid เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมา มีคุณสมบัติทนต่อ ความร้อน ไม่เสื่อมง่ายเหมือนเอเอชเอ ที่สกัดมาจากธรรมชาติ สารในตระกูลบีเอชเอตัวหนึ่งที่เรารู้จัก กันดี ก็คือ กรดซาลิกไซลิก (salicylic acid)
แต่เดิม บีเอชเอเป็นสารที่ใช้ในวงการแพทย์ผิวหนังมานานกว่า ๔๐ ปีแล้ว ใช้ผสมในยารักษาหูด ส้นเท้าแตก โรคผิวหนังชนิดอักเสบเรื้อรัง คนที่มีฝ่ามือฝ่าเท้าหนา มาก ซึ่งบีเอชเอจะมีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังชั้นขี้ไคลผลัดตัวเร็วขึ้นดีกว่าเอเอชเอ ความเข้มข้นที่ใช้ทั่วไปคือ 0.5-5 เปอร์เซนต์
ผลข้างเคียงของบีเอชเอ
บี เอชเอในปริมาณความเข้มข้นสูงๆก็มีผลเสียต่อผิวหนัง ไม่ต่างจากการใช้เอเอชเอ นั่นคือ การระคายเคือง ลอก แดง ทำให้ผิวบางลงและไวต่อ แสงแดด ซึ่งอาจทำให้ภูมิต้านทานโรคของเซลล์ผิวหนังต่ำลงด้วย อาจจะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
จะเห็นว่าเอเอชเอและบีเอชเอต่างก็มีข้อดี และข้อเสียอยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งหากใช้อย่างระมัดระวัง และถูกต้อง ก็จะมีประโยชน์ต่อความสวยงาม แต่ถ้าหากใช้ไม่ถูกต้องก็จะเสี่ยงต่อการระคายเคือง
AHA และ BHA แตกต่างกันอย่างไร
ข้อเปรียบเทียบ | AHA | BHA |
แหล่งกำเนิด | สกัดจากธรรมชาติ | สังเคราะห์ |
ปริมาณที่ใช้ | 3-5 เปอร์เซนต์ | 1-1.5 เปอร์เซนต์ |
ฤทธิ์ต่อผิว | เร่งการผลัดเซลล์ผิว | เร่งการผลัดเซลล์ ละลายไขมันใต้ผิว |
การละลาย | ละลายได้ในน้ำ ผ่านลงไปใต้ชั้นผิวหนังได้น้อย | ละลายได้ไขมัน ผ่านลงไปใต้ชั้นผิวหนังได้มากกว่า |
ข้อเสีย | อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวแห้ง | อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวแห้ง |