มอยเจอร์ไรเซอร์คืออะไร เลือกตัวไหนดี บทความโดยเภสัชกร

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  160048 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มอยเจอร์ไรเซอร์คืออะไร เลือกตัวไหนดี บทความโดยเภสัชกร

มอยส์เจอร์ไรเซอร์ มีความสำคัญในการรักษาความชุ่มชื้นให้ผิว แม้ว่าผิวคนเราจะผลิตมอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้เองแต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมากกมายที่มีส่วนผสมไม่เป็นมิตรกับผิว มีฤทธิ์ระคายเคือง ทำให้ผิวอ่อนแอและผลิตมอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้น้อยลง การบำรุงผิวโดยคำนึงถึงส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์จึงมีความสำคัญเช่นกัน บางคนหน้ามันแล้วกลัวว่าถ้าใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์จะทำให้ผิวยิ่งมัน เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะมอยส์เจอร์ไรเซอร์มีหลายประเภท สามารถเลือกใช้ให้ตรงกับสภาพผิวได้

อยากมีผิวสวย โปรดอ่านตรงนี้ก่อน

ผิวหนังชั้นนอกสุด (stratum corneum หรือชั้นขี้ไคล) เป็นชั้นที่เรามองเห็นด้วยสายตา ในสายตาคนรอบข้างหรือตอนเราส่งกระจก ผิวเราจะดูเหี่ยวแห้ง ขาดเลือดฝาด ไม่สดใส หรือว่าสวยงาม ขึ้นกับความสมบูรณ์ของชั้นนี้เป็นหลัก อยากให้ผิวดูสวยในสายตาคนมอง ก็ต้องมาเร่งทำให้ผิวชั้นขี้ไคลสมบูรณ์กันค่ะ

คำศัพท์ที่จะเจอในบทความนี้

  • Epidermis : ผิวหนังชั้นนอกสุด ภาษาไทยเรียกว่าชั้นหนังกำพร้า มี 5 ชั้นย่อย
  • stratum corneum : ชั้นขี้ไคล เป็นชั้นย่อยชั้นนอกสุดชองชั้นหนังกำพร้า 
  • Corneocyte : เซลล์ในชั้นขี้ไคล มีการเรียงตัวเป็นชั้นๆประมาณ 25-30 ชั้น บางตำราเรียก Corneocyte ว่า horny cell
  • Brick and Motar Model : แบบจำลองการเรียงตัวเป็นชั้นๆของเซลล์ Corneocyte
  • Keratinocyte : เป็นคำรวมๆที่ใช้เรียกเซลล์ผิวทั้งหมดของชั้น epidermis  เนื่องจากเซลล์ผิวในชั้นหนังกำพร้าจะมี keratin เป็นองค์ประกอบภายใน ทำให้ทุกเซลล์ในชั้น Epidermis ได้ชื่อว่าเป็น keratinocyte ทั้งหมด
  • NMFs : ย่อมาจาก Natural moisturizing factors เป็นสารประกอบหนึ่งที่อยู่ภายในเซลล์ Corneocyte  ทำหน้าที่เก็บน้ำและรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ภาษาไทยเรียก NMFs ว่า "น้ำหล่อเลี้ยงผิวตามธรรมชาติ"
  • Intercellular lipids : ชั้นไขมันกั้นระหว่างเซลล์ Corneocyte ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้  NMFs  ภายในเซลล์ Corneocyte รั่วออกมาภายนอก บางตำราเรียก Intercellular lipids ว่า intercellular matrix หรือ Lipid barrier
  • Sebaceous gland : ต่อมไขมันที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำมัน (sebum) มาเคลือบพื้นผิว
  • TEWL : ย่อมาจาก Transepidermal Water Loss  หมายถึงการสูญเสียน้ำผิวผ่านชั้น Epidermis    ยิ่ง TEWL มีค่าสูง หมายความว่ายิ่งมีการสูญเสียน้ำมาก


โครงสร้างผิวหนังชั้นขี้ไคล (stratum corneum)
ชั้น stratum corneum มีการเรียงตัวของเซลล์ corneocyte อย่างเป็นระเบียบเป็นชั้นๆ ประมาณ 25-30 ชั้น โดยมี intercellular lipids เป็นตัวประสานล้อมรอบ ตำราฝรั่งได้เรียกการเรียงตัวแบบนี้ว่า Brick and Motar Model

 

ภาพการเรียงตัวของอิฐที่ก่อด้วยปูน Brick and Motar Model  (Brickแปลว่าอิฐ  Motar แปลว่าปูน)


ภาพจำลองการจัดเรียงตัวของเซลล์ corneocyte เป็นชั้นๆ โดยมี intercellular lipids เป็นตัวประสานซึ่งมีลักษณะคล้ายการเรียงตัวของอิฐที่ก่อด้วยปูน จึงถูกเรียกว่า Brick and Motar Model 


อิฐแต่ละก้อน เทียบได้กับเซลล์ corneocyte 

ภายในเซลล์ corneocyte มี NMFs ทำหน้าที่รักษาระดับน้ำภายในเซลล์
NMFs ที่สำคัญๆ  คือ Amino acids, PCA  และน้ำตาล Glucose
NMFs เป็นสารที่เซลล์ชั้นหนังกำพร้าสามารถสร้างขึ้นได้เองในระหว่างที่มีการเจริญเติบโตเป็นเซลล์เต็มวัย (keratinocyte differentiation)
หากมีปัจจัยใดไปรบกวนการเจริญเติบโตของเซลล์ keratinocyte ก็จะทำให้ NMFs ถูกผลิตน้อยลง และส่งผลถึงความชุ่มชื้นของชั้น stratum corneum

ปูนประสาน เทียบได้กับ Intercellular lipids
เป็นตัวยึดเหนี่ยวเซลล์ ให้เรียงกันอย่างแน่นหนาและเป็นระเบียบ 
Intercellular lipids ประกอบไปด้วยสารจำพวกไขมัน ได้แก่  ceramides 47 %,  cholesterol 24 %,  free fatty acids 11 % และ cholesterol esters 18 %

ผิวสวยเริ่มต้นความสมบูรณ์ของชั้น stratum corneum 
อยากให้ผิวดูสวย ควรหันมาดูแลผิวชั้น stratum corneum ให้สมบูรณ์ โดยการรักษาระดับ NMFs และ intercellular lipids ให้สมบูรณ์มากที่สุด
การที่ระดับความชุ่มชื้นในผิวเพียงพอจะช่วยให้

  • เซลล์ผิวมีความยืดหยุ่นดี ถูกทำอันตรายได้ยาก
  • เสริมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยในกระบวนการผลัดเซลล์ผิวให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ หากผิวขาดความชุ่มชื้นที่พอเหมาะ เอนไซม์เหล่านี้จะทำงานไม่ดี การผลัดเซลล์ผิวจึงรวน ผิวหน้าหมองคล้ำ ฝ้ากระ สะสม รูขุมขนอุดตัน เป็นสิว
  • ส่งเสริมให้โครงสร้างมีความแข็งแรงและทำหน้าที่กรองสารที่จะผ่านเข้าออกผิว ได้ดีและสมบูรณ์  หากผิวขาดความชุ่มชื้นที่พอเหมาะ เซลล์ corneocyte จะลีบแบน การเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เกิดช่องโหว่ น้ำใต้ผิวระเหยออกง่าย สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกผ่านเข้าไปได้ง่าย ทำให้ผิวหนังอักเสบ เกิดการติดเชื้อ เป็นต้น
  • รักษาระดับ pH ของผิว : ผิวที่มี pH ผิวพอเหมาะ จะช่วยให้ NMFs ถูกผลิตได้ดี
  • สิวขึ้นน้อยลง : ผิวที่ขาดความชุ่มชื้น ทำให้เซลล์ผิวเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ มีการหลุดลอกผิดปกติและไปอุดตันตามรูขุมขน เมื่อรวมกับน้ำมันที่ระบายออกไม่ได้ จึงเกิดการอุดตันเป็นสิวอุดตัน สิวอักเสบ เมือผิวชุ่มชื้น การผลัดเซลล์กลับมาปกติ การอุดตันเกิดน้อยลง สิวลดลง
  • รูขุมขนกระชับ : ผิวที่ชุ่มชื้นพอเหมาะ เซลล์ corneocyte จะมีความอวบอิ่มและพองตัวเบียดกัน ทำให้รูขุมขนซึ่งอยู่ระหว่างจุดเชื่อมของเซลล์ corneocyte  ถูกบีบอัดให้แคบลง ผิวจึงดูละเอียดขึ้น  ดังนั้นในคนที่ผิวแห้งมากๆ นอกจากผิวจะดูหยาบแล้ว รูขุมขนก็จะกว้างขึ้นด้วย อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่บทความเรื่อง ตาข่ายผิว



ภาพเปรียบเทียบผิวหนังปกติและผิวหนังที่แห้ง

ผิวปกติ :

  • เซลล์เรียงตัวชิดกัน เป็นระเบียบ
  • inter cellular matrix สมบูรณ์
  • เหนือผิวด้านบนมีน้ำมัน (hydro lipid film) เคลือบอยู่เพียงพอ
  • น้ำใต้ผิวระเหยออกได้น้อย

 

ผิวแห้ง :

  • การเรียงตัวของเซลล์ผิวหลวม ไม่เป็นระเบียบ
  • intercllular matrix มีน้อย/ไม่มีคุณภาพ
  • น้ำมันเคลือบผิว (hydro lipid film) น้อย
  • น้ำใต้ผิวระเหยออกได้มาก (TEWL สูง)
  • แบคทีเรีย สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ผิวได้ง่าย ผิวจึงระคายเคืองและอักเสบง่าย


ผิวแห้ง ผิวขาดความชุ่มชื้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร? 
ผิวแห้งและผิวขาดความชุ่มชื้นคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน

คำว่าผิวแห้งเป็นคำใช้จำแนกสภาพผิวที่ติดตัวมา เช่น คนนี้ผิวมัน คนนี้ผิวผสม คนนี้ผิวแห้ง ซึ่งใช้ปริมาณน้ำมันที่ผลิตจากต่อมไขมันเป็นตัวจำแนก

 

  • ผิวแห้ง(dry skin) หมายถึง ผิวที่ขาดน้ำมัน (sebum) เคลือบผิวด้านบน เนื่องมาจากมีต่อมน้ำมัน ( sebaceous gland) ใต้ผิวน้อย จึงผลิตน้ำมันได้น้อย เมื่อปริมาณน้ำมันเคลือบพื้นผิวน้อยจึงสูญเสียน้ำใต้ผิวได้ง่าย  ดังนั้นคนที่ผิวแห้งยังคงมีความสมบูรณ์ของ  intercllular matrix และมีน้ำใต้ผิวที่เพียงพอ เพียงแต่ขาดน้ำมันที่พื้นผิว
  • ผิวมัน (oily skin) หมายถึง ผิวที่มีต่อมไขมันมากทั่วทั้งหน้าและผลิตน้ำมันมาเคลือบพื้นผิวได้มาก ผิวภายนอกจึงดูมัน การสูญเสียน้ำใต้ผิวจึงเกิดขึ้นน้อย 
  • ผิวผสม (mix skin) หมายถึง ผิวที่มีต่อมไขมันบริเวณ t-zone มาก, u-zone น้อย ทำให้หน้ามันเฉพาะบริเวณ t-zone ส่วน u-zone ธรรมดาหรือแห้ง


ส่วน ผิวขาดความชุ่มชื้น (dehydrated skin) คือผิวที่มีน้ำใต้ผิวต่ำ วัดน้ำใต้ผิวได้ < 10%  สาเหตุอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยภายใน 

1.ปัจจัยภายนอก

  • การใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์มากเกินไป  : ทำให้หนังกำพร้ามีการหมุนเวียนเร็วกว่าปกติ ผิวหนังที่มีการหมุนเวียนรวดเร็วจะไม่สามารถสร้าง NMFs และ intercellular lipids ได้ทัน จึงเสียความสามารถในการรักษาน้ำให้คงอยู่ในผิวหนัง 
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีคุณสมบัติขจัดน้ำมันเคลือบพื้นผิวมากเกินไป  : น้ำมันเคลือบพื้นผิวน้อย สูญเสียน้ำใต้ผิวได้ง่าย
  • รังสี UV  : ได้รับรังสี UV เป็นปริมาณมากติดต่อกัน ไม่ทาครีมกันแดด รังสี UV จะรบกวนการสร้าง NMFs 
  • ความชื้นในอากาศ : ความชื้นในอากาศต่ำกว่า 10%  จะดึงน้ำในผิวออกสู่ภายนอก ดังนั้นในห้องปรับอากาศ ในฤดูหนาว ซึ่งมีความชื้นต่ำ สามารถพรากน้ำใต้ผิวได้ตลอดเวลา


2. ปัจจัยภายใน

  • อายุ : อายุทีเพิ่มขึ้น การผลิต NMFs  และ sebum ลดลง 
  • เชื้อชาติ : ชาวเอเชีย มีปริมาณ NMFs ต่ำกว่าเชื้อชาติอื่น
  • โรคผิวหนัง: โรคผื่นแพ้กรรมพันธุ์ (atopic dermatitis)  โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคเด็กดักแด้ (Ichthyosis) โรคเหล่านี้จะมีการแบ่งตัวของ keratinocyte  (keratinization)  เร็วกว่าปกติหลายเท่า และเคลื่อนตัวมาที่ผิวนอกอย่างรวดเร็ว เช่น 4 วัน  (ปกติใช้เวลา 28วัน) ทำให้ผิวหนังหนาเป็นปื้น  ในขณะที่กระบวนการสร้าง NMFs , intercellular lipids ยังเกิดขึ้นไม่สมบูรณ์ เซลล์ผิวหนังจึงขาดแรงยึดเหนี่ยวกันตามปกติ  เซลล์ผิวจึงหลุดลอกออกเป็นแผ่นๆได้ง่าย คล้ายเป็นสะเก็ดหรือเกล็ดขึ้นกับความรุนแรง


ลักษณะของผิวหนังที่ขาดความชุ่มชื้น (dehydrated skin)
- ผิวไม่เรียบ มีขุยหรือไม่มีขุยก็ได้ แต่ถ้ามีขุยคืออาการหนัก ทาแป้งไม่ติด (หน้ามันมาก ทาแป้งไม่ติด หน้าแห้งไปก็ทาแป้งไม่ติดเหมือนกัน)
- มองเห็น fine line ชัด (ริ้วเล็ก) โดยเฉพาะใต้ตา มุมปาก
- ผิวแดงง่าย สีผิวไม่สม่ำเสมอ
- คันและเกิดผิวหนังอักสบ
- ระคายเคืองง่าย แพ้ง่าย

การรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง จึงต้องทำทั้ง

  • เติมความชุ่มชื้นเข้าไปก่อน ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ และเลือกใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ประเภท humectant
  • ปิดกั้นความชุ่มชื้นไม่ให้ระเหยออก ด้วยการใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ประเภท occlusive
  • เพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำใต้ผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมใกล้เคียงกับ NMFs และ Intercellular lipids


เลือกมอยเจอร์ไรเซอร์เป็น ช่วยอะไรบ้าง?

  • Repairing the skin barrier : เสริมสร้างเกราะป้องกันผิว ผิวแข็งแรงขึ้น ระคายเคืองน้อยลง ไม่แพ้ง่าย
  • Increasing water content : เพิมปริมาณน้ำใต้ผิว
  • Reducing TEWL : ลดการสูญเสียน้ำผ่านออกทางผิวหนังชั้นอีพิเดอร์มิส
  • Restoring the lipid barriers’ ability to attract, hold and redistribute water : ซ่อมแซม intercellular lipids ให้สามารถกักเก็บน้ำและรักษาสมดุลน้ำใต้ผิว



สารช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น (มอยส์เจอร์ไรเซอร์)  แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ  

1. สารช่วยเพิ่มน้ำในชั้นผิวหนัง (Humectant) สารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการจับกับน้ำ (water binding) เช่น colloidal oatmeal, Amino acid, Hyaluronic Acid, Sodium PCA , glycerin, น้ำผึ้ง, กรดแลคติค (lactic acid), soduim lactate, propylene glycol, sorbitol, pyrolidone carboxylic acid (PCA) , gelatin, collagen , lastin, urea 

ทั้ง Sodium-PCA และ hyaluronic acid (HA)  จัดเป็นสารประเภท glycosaminoglycans ในธรรมชาติสารนี้พบสอดแทรกในชั้นหนังแท้ โดยสาร HA จะอุ้มน้ำได้ 1000 เท่า จึงทำให้ผิวหนังเด็กเต่งตึง แต่เมื่อวัยสูงขึ้นสาร HA ในชั้นหนังแท้จะลดลงทั้งคุณภาพและปริมาณ ผิวหนังจึงเหี่ยวย่น ในครีมหรือโลชันผิวแห้งจึงนิยมผสมสาร HA เพื่อช่วยอุ้มน้ำในผิวหนังชั้นขี้ไคล เนื่องจากสารในกลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มน้ำให้กับผิวได้โดยตรง ทำให้ผิวเรียบนุ่มชุ่มชื้นโดยไม่เพิ่มความมัน  มอยส์เจอร์ไรเซอร์กลุ่ม Humectant จึงเหมาะกับผิวมัน ผิวแห้ง และผิวแพ้ง่าย  

2. สารเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำจากผิว (occlusive moisturizers) ผลิตภัณฑ์ผิวแห้งจะผสมน้ำมันหลายชนิด เมื่อทาน้ำมันเคลือบผิวการระเหยของน้ำจากชั้นผิวหนังจะลดลง   น้ำมันที่ใช้มีหลายกลุ่ม คือ
         1. Hydrocarbon oils and waxes: petrolatum, mineral oil, paraffin, and squalene
         2. Silicone oils
         3. Vegetable and animal fats
         4. Fatty acids: lanolin acid, stearic acid, linoleic acid, linolenic acid,  arachidonic acid
         5. Fatty alcohol: lanolin alcohol and cetyl alcohol
         6. Polyhydric alcohols: polyethelene glycol
         7. Wax esters: lanolin, beeswax, and stearyl stearate
         8. Vegetable waxes: carnauba and candelilla
         9. Phospholipids: lecithin
        10. Sphingolipids: ceramides
        11. Sterols: cholesterol and cholesrol sulfate

น้ำมันกลุ่ม hydrocarbon, น้ำมันพืช, น้ำมันจากสัตว์, ลาโนลิน, polyethelene glycol หรือไขผึ้ง ฯลฯ เมื่อนำน้ำมันเหล่านี้ผสมในครีมจะต้องใช้ในปริมาณพอเหมาะเพื่อไม่ให้เหนอะหนะ ไม่น่าใช้

ไขมันกลุ่ม phospholipid และ sphingolipid จะมีคุณสมบัติคล้ายน้ำมันหล่อเลี้ยงผิว น้ำมันกลุ่มนี้อาจช่วยซ่อมแซมผิวหนังได้ด้วย

สารซึ่งน่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งคือ สารซิลิโคน เช่น cyclomethicone และ dimethicone สารกลุ่มนี้ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยหล่อลื่นผิวหนังได้ดี ผิวหนังจะเรียบนุ่มทันทีหลังใช้ โดยไม่เหนียวเหนอะหนะ ไม่ก่อให้เกิดสิว และไม่ทำให้เกิดการแพ้เพราะเคลือบอยู่ภายนอกเท่านั้น ในปัจจุบันจึงนิยมใช้ซิลิโคนผสมในผลิตภัณฑ์หลายชนิด

เนื่องจากสารเคลือบผิว Occlusives ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวด้วยการเคลือบปิดผิวชั้น Stratum Corneum เพื่อลดหรือชะลอการระเหยของน้ำ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เราจึงควรทามอยซ์เจอไรเซอร์ทีมีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์ประเภท occlusive ขณะที่ผิวยังมีเปียกหรือมีความชื้นอยู่เพื่อให้ occlusive moisturizers ทำหน้าที่กักความชุ่มชื้นเอาไว้  ในเครื่องสำอางแบรนด์ญี่ปุ่นเกือบทุกแบรนด์จะแนะนำให้ลงโลชั่นที่ผสม hyaluronic acid (บ้านเราเรียกโทนเนอร์) เพื่อเติมน้ำ ต่อด้วยการยลง emusion หรือ milk  ที่มีส่วนผสมของ occlusive moisturizers  เพื่่อปิดล๊อกความชุ่มชื้นให้แก่ผิวอีกครั้ง

occlusive moisturizers  มีข้อดี คือ ทำให้ผิวหนังลื่นชุ่มชื้น และนิ่มนวล แต่ข้อเสีย คือ ไขมันบางตัวอาจอุดตันรูขุมขน ก่อให้เกิดสิว และถ้าผสมในปริมาณสูงจะเหนียวข้นไม่น่าใช้ ผู้ที่มีผิวมันจึงควรเลี่่ยงมอยส์เจอร์ไรเซอร์ประเภทนี้

 

สรุป

ผิวชั้น stratum corneum ต้องการการดูแลให้มีความชุ่มชื้นที่พอเหมาะ สำคัญอยู่ที่การเลือกประเภทของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ให้เหมาะกับตัวเอง 
มอยส์เจอร์ไรเซอร์บางชนิดอาจจะดูไม่เหมาะกับสภาพผิวเราในเชิงทฤษฎี แต่พอได้ลองใช้กลับอาจจะตีต่อผิวเราก็ได้ น้อยคนที่จะคิดว่าผิวตัวเองขาดความชุ่มชื้น เพราะผิวคนไทยส่วนใหญ่จะออกไปทางผิวผสม เมื่อมีน้ำมันออกมาเคลือบก็ตีความว่า ตัวเองผิวมัน  ทั้งที่จริงแล้ว ใต้ผิวอาจขาดความชุ่มชื้นก็ได้  หากแยกไม่ออกว่าผิวขาดความชุ่มชื้นหรือไม่ แนะนำให้ตรวจสภาพผิวในเคาน์เตอร์เครื่องสำอางค่ะ

การดื่มน้ำอย่างเพียงพอก็ช่วยรักษาความชุ่มชื้นใต้ผิวได้หรือแม้แต่การทาครีมกันแดดก็ช่วยได้เหมือนกัน เพราะรังสี UV สามารถทะลุลงไปทำลายและรบกวนการสร้าง NMFs รวมถึง Intercellular lipids ได้

ฝากไว้ท้ายสุด : อยากให้ผิวดูสวย หันมาดูแลผิวชั้น stratum corneum ให้สมบูรณ์กันเถอะค่ะ  อย่าเน้นใช้แต่พวกครีมหน้าขาว ครีมหน้าใส อย่างเดียว ลองดูส่วนผสมอื่นๆว่ามันตอบความต้องการด้านอื่่นๆให้ผิวด้วยมั๊ย  เคยเห็นมั้ยคะ บางคนหน้าขาวมาก ขาวตัดกับคอ แต่หน้าไม่เนียน หน้าดูแห้ง ดูมีขุย ไม่มีเลือดฝาด รูขุมนก็กว้าง ผิวดูไม่เป็นธรรมชาติเสียเลย คุณสามีของแอดมินเรียกผิวแบบนี้ว่า ผิวกระเบื้อง  ผิวดูขาวจริงแต่เป็นขาวด้านเหมือนกระเบื้อง มันไม่ healthy  มันไม่มีออร่า มันไม่เปล่งประกาย มันไม่มีเลือดฝาด โอ๊ะ พูดแล้วยาว  เอาเป็นว่าถ้าเราดูแลผิวถูกต้องโดยยึดตามโครงสร้างผิว เราจะรู้ความต้องการที่แท้จริงของผิว พอผิวเราสุขภาพดี ผิวก็จะดูดีเปล่งปลั่งสดใสอย่างเป็นธรรมชาติเองค่ะ
 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้