สิวสเตอรอยด์ แพ้สเตอรอยด์ บทความโดยเภสัชกร

Last updated: 15 ก.ค. 2566  |  469129 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผิวติดสาร


ภญ.จิราพรรณ คำดี และ ภก. ธีรชัย เรืองบัณฑิต ห้ามคัดลอกไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ก่อนได้รับอนุญาต 
วันที่เผยแพร่ : 1 มกราคม 2564

******************************

ปัญหา สิวสเตอรอยด์ พบได้บ่อยจากการใช้ครีมที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะครีมที่เน้นให้หน้าใส มีรีวิวมหาศาล เห็นผลเร็ว และผู้ขายต่างก็มั่นใจว่าครีมที่ตัวเองรับมาขายนั้นไร้สารแน่นอน แต่ไม่นานนัก ความจริงก็ปรากฏ มีผู้เสียหายปรากฎตัวให้เห็น


ยาสเตอรอยด์ จัดเป็นสารห้ามใช้ตาม พรบ.เครื่องสำอาง  จะดีดใส่ หยดใส่ แม้แต่นิดหน่อยก็ถือว่าผิดกฎหมาย อย่าหลงเชื่อคนขายที่บอกว่า ใส่นิดเดียว ไม่อันตราย อย.เขาให้ใส่ได้ คำกล่าวอ้างเหล่านี้ไม่เป็นความจริง

ก่อนเข้าเรื่องผลข้างเคียงของ ครีมหน้าใส ที่แอบผสม ยาสเตอรอยด์ เรามาดูประวัติความเป็นมาของการใช้ยาสเตอรอยด์ในวงการแพทย์กันก่อนนะคะ

สเตอรอยด์ชนิดทา (Topical steroids)
มีรายงานการนำสเตอรอยด์มาใช้ในการรักษาโรคผิวหนังตั้งแต่ปี ค.ศ.1952 ด้วยฤทธิ์เด่นของสเตอรอยด์ คิอ
1. การยับยั้งการอักเสบ
2. การกดภูมิคุ้มกัน จึงมีการนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังบางชนิดที่มีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ

และต่อมามีการใช้แพร่หลายมากขึ้น มีรายงานพบผลข้างเคียงของการใช้สเตอรอยด์ชนิดทาผิวหนังครั้งแรกในปี ค.ศ.1995

การแบ่งความแรงของสเตอรอยด์ชนิดทา (Topical steroids potency classification)
มีหลายวิธีทีใช้ในการแบ่ง เช่น การทดสอบฤทธิ์ในการทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนังหดตัว , การวัดประสิทธิภาพต้านการอักเสบหลังมีการฉีดสารก่ออักเสบใต้ผิวหนัง , การทดสอบประสิทธิภาพในการลดรอยแดงบนผิวหนังหลังถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวี  และอีกหลายๆวิธี ซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้

 ตัวอย่างยาสเตอรอยด์ที่มีจำหน่าย จำแนกตามระดับความแรง (ข้อมูลจาก https://www.dst.or.th)


การดูดซึมยาสเตอรอยด์ชนิดทา
ยาทาสเตึยรอยด์มีอัตราการดูดซึมประมาณร้อยละ 1 บนผิวคนสุขภาพดี (ผิวปกติ) แต่ในผู้ป่วยโรคผิวหนัง ผิวหนังมีความอ่อนแอ จะยอมให้ยาซึมได้มากกว่าผิวปกติถึง 9-10 เท่า นอกจากนี้ผิวแต่ละบริเวณก็ดูดซึมยาได้ไม่เท่ากัน โดยผิวส่วนที่หนา เช่น ฝ่ามือฝ่าเท้า ดูดซึมยาได้น้อย ส่วนผิวที่บอบบางได้แก่ผิวบริเวณเปลือกตาและถุงอัณฑะเป็นส่วนที่ดูดซึมยาได้ดีมากถึง 300 เท่า


อาการข้างเคียงจาก สเตอรอยด์ชนิดทา ที่เป็นปัญหากับสาวๆในขณะนี้ คือ  "สิวสเตอรอยด์" และ "ผิวติดสเตอรอยด์" 


1. สิวสเตอรอยด์ 

  • สิวสเตอรอยด์ มีทั้งแบบสิวแท้และสิวเทียม
  • สิวแท้ (acne vulgaris) คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของคอมีโดนในรูขุมขน เหมือนสิวฮอร์โมนทั่วไป แบ่งเป็น สิวอุดตัน สิวอักเสบ 
  • สิวเทียม คือ ตุ่มนูน ตุ่มหนอง ที่มีลักษณะคล้ายสิวแต่ไม่ใช่สิว  เช่น รูขุมขนอักเสบ (folliculitis)
  • การแยกด้วยตาเปล่าว่าอันไหนคือสิวแท้ อันไหนคือสิวเทียม อาจทำได้ยาก เพราะมันดูคล้ายกัน โดยเฉพาะถ้าขึ้นที่หน้า และมีลักษณะเป็นตุ่ม เรามักจะเรียกรวมเป็น  สิวสเตอรอยด์ 
  • ในบทความนี้จะเรียกอาการมีตุ่มหนอง ตุ่มแดง บนผิวหน้าหลังจากใช้ครีมหรือยาที่มีสเตอรอยด์ว่า  "สิวสเตอรอยด์" 
  • จะทราบได้อย่างไรว่า สิวที่ขึ้นเป็นสิวฮอร์โมนทั่วไป หรือว่าเป็นสิวสเตอรอยด์ ตอบ ดูได้คร่าวๆจากลักษณะของสิว  สิวจากสเตอรอยด์จะมีลักษณะเป็นปื้น กระจุก ประทุทุกรูขุมขน ทุกเม็ดจะดูคล้ายกันไม่ขึ้นกับเวลาที่เป็น ทำให้บางคนเรียกมันว่า ผื่นสิว และอาจมีอาการคัน ส่วนสิวฮอร์โมนทั่วไป จะมีลักษณะต่างกันในแต่ละเม็ด ขึ้นกับระยะสิว เช่น บางเม็ดเป็นสิวอุดตันตุ่มเล็ก บางเม็ดก็อักเสบ บางเม็ดเป็นสิวหัวดำ บางเม็ดเป็นแค่สิวเสี้ยน และมักจะไม่ขึ้นเป็นปื้น
  • ยาสเตอรอยด์มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ทำให้ผิวหนังมีภูมิต้านทานต่ำ เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ทั้งเชื้อรา ,ยีสต์​ ,เชื้อกลาก ,เชื้อเกลื้อน ,ไรชนิดdemodex ,หิด(scabies) ,เชื้อแบคทีเรียหลายชนิด สิวสเตอรอยด์จึงมีได้หลายแบบ ขึ้นกับชนิดของเชื้อที่ติดร่วม ถ้าติดเชื้อยีสต์/รา มักจะมีอาการคัน ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียก็จะเป็นหนองขนาดใหญ่กดแล้วเจ็บ
  • เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ ตอบ เมื่อมีอาการคันและสิวขึ้นเป็นบริเวณกว้าง อาการคันเป็นสัญญาณที่บอกว่าอาจติดเชื้อรา การรักษาต้องรับประทานยาหรือทายารักษาเชื้อราร่วมกัน 


สิวสเตอรอยด์ชนิดรูขุมขนอักเสบ folliculitis ร่วมกับหน้าแดง (erythema)


สิวสเตอรอยด์ชนิดรูขุมขนอักเสบร่วมกับติดเชื้อรา  (pityrosporum folliculitis)

รูขุมขนอักเสบคืออะไร
ก่อนจะเข้าเรื่องรูขุมขนอักเสบ ขออธิบายถึงสิวอุดตันแบบปกติก่อนนะคะ

  • สิวอุดตันแบบปกติเริ่มจากการมีน้ำมันในรุขุมขนมากเกินไปจนไม่สามารถระบายออก สะสมเกิดเป็นคอมีโดน และโตขึ้นจนปูดออกมาเป็นเม็ดสิว เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามระยะของสิว อาจถูกรบกวนซ้ำจากเชื้อ P.acne กลายเป็นสิวอักเสบที่กดแล้วรู้สึกเจ็บ 
  • ส่วนสิวชนิดรูขุมขนอักเสบ (folliculitis)  จะมีจุดเริ่มต้นจากการลอกตัวของเซลล์บุรูขุมขน เกิดเป็นตุ่มหนองสีขาวเล็กๆจำนวนมาก  ซึ่งไม่ใช่สิว แต่ดูเหมือนสิว ในบางรายอาจมีการติดเชื้อยีสต์กลุ่ม Malassezia ร่วมด้วย  เรียกว่า รูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา (Malassezia folliculitis) หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า สิวยีสต์ / สิวเชื้อรา ซึ่งมักมีอาการคัน  อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สิวเชื้อรา 


 

สิวสเตอรอยด์(คนไทย) : มีสิวหลายชนิดรวมกัน ทั้งสิวอุดตัน สิวอักเสบ และรูขุมขนอักเสบ

ยาสเตอรอยด์ ทำให้เซลล์บุรูขุมขนไวต่อการกระตุ้น มีปริมาณกรดไขมันมากขึ้น แบคทีเรีย P.acne ในรูขุมขนเจริญเติบโตเร็ว เกิดการสร้างคอมีโดนที่มากผิดปกติ กลายเป็นสิวอุดตัน หรือสิวอักเสบเม็ดใหญ่ลุกลามเกือบทุกรูขุมขน อีกทั้งภูมิคุ้มกันของผิวถูกสเตียรอยด์กดไว้มาอย่างยาวนาว ทำให้ผิวอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย สิวสเตอรอยด์จึงมักรุนแรง มีหัวหนองขนาดใหญ่  มีสะเก็ดกรัง


สิวสเตอรอยด์อีกชนิดหนึ่ง หายได้เองเมื่อหยุดยาสเตอรอยด์ หากไม่ได้แกะเกาจะไม่ทิ้งรอยดำ รักษาเหมือนสิวอักเสบทั่วไป 

 

" สิวจากสเตอรอยด์จะมีลักษณะเป็นปื้น กระจุก ประทุทุกรูขุมขน ทุกเม็ดจะดูคล้ายกันไม่ขึ้นกับระยะสิว ทำให้บางคนเรียกมันว่า ผื่นสิว และอาจมีอาการคัน ส่วนสิวฮอร์โมนทั่วไป จะมีลักษณะต่างกันในแต่ละเม็ด ขึ้นกับระยะสิว  "


การใช้ครีมสเตอรอยด์ไปสักระยะแล้วเกิดเป็นสิวสเตอรอยด์ก็ถือว่าเป็นโชคดีของผู้ใช้ เพราะเป็นใครก็คงต้องหยุด เท่ากับว่า รู้ตัวเร็ว หยุดเร็ว ต่างจากบางคนที่ใช้แล้วหน้าใสสุดๆ ไม่แสดงอาการผิดปกติอะไรเลย ใช้ยาวเป็นปี พอหยุดเท่านั้นแหละ เกิดอาการถอนยา (steroid withdrawal) กลายเป็นคนมีปัญหาผิวติดสเตอรอยด์ (steroid addict)  ซึ่งรุนแรงกว่า รักษายากกว่า เปลี่ยนครีมไม่ได้  พอกลับไปใช้ครีมเดิม หายเป็นปลิดทิ้ง ดูรายละเอียดในหัวข้อถัดไป



2. ผิวติดสเตอรอยด์  ผิวก่อนใช้ปกติดี ทาครีมแล้วหน้าสวย ทาครีมไปนานเข้า พอลืมทา หรือเลิกใช้ ก็เกิดอาการถอนยา ผิวเสียสมดุล เดี๋ยวแห้งเดี๋ยวมัน แพ้ทุกอย่าง เปลี่ยนครีมไม่ได้ คันหน้า หน้าแดง แสบง่าย มีสิวผดขึ้น พอกลับไปทาครีมเดิม อาการเหล่านี้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ยาสเตอรอยด์มีผลทำให้โครงสร้างผิวหนังชั้นหนังแท้หลวมบาง เพราะคอลลาเจนและอีลาสตินถูกทำลาย ผิวจึงเหี่ยวและยุบตัว  ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าก็บางลงเพราะการสร้างเซลล์ใหม่หยุดชะงัก สารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของปราการผิว (skin barrier) ไม่เพียงพอ เชื้อโรคและสารก่อการแพ้จึงซึมลงไปใต้ผิวได้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย ใช้อะไรก็แพ้ เวลาเป็นสิวก็รุนแรง แผลหายช้ากว่าปกติเพราะการสร้างเนื้อเยื่อใหม่เส้นเลือดใหม่ผิดปกติไปหมด

" อาการเลิกยาแล้วหน้ามีผื่นแดงเรียกว่า Steroids withdrawal pattern จะเกิดขึ้นหลังจากหยุดยาประมาณ7วัน เส้นเลือดมีการขยายตัว ทำให้หน้าแดง อาจมีตุ่มหนองขนาดเล็กคล้ายสิวผด 2-3 สัปดาห์ต่อมาผิวจะลอกเป็นขุย อาจกลับเป็นซ้ำได้อีกและมักจะหายช้ากว่าเดิม "

ผิวติดสเตอรอยด์จัดเป็นอาการข้างเคียงประเภทหนึ่งจากการใช้ยาหรือครีมที่ผสมสเตอรอยด์เท่านั้น คนที่ใช้ยาหรือครีมสเตอรอยด์อาจจะไม่เกิดผลข้างเคียงนี้ แต่อาจจะเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ อย่างไรก็ตามการใช้สเตอรอยด์เป็นระยะเวลานาน มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลข้างเคียงครบทุกประเภทที่จะกล่าวในบทความนี้

กรณีที่ 1


กรณีที่2



จากกรณีศึกษาจะเห็นว่าการรักษาผิวติดสเตอรอยด์ไม่มีกฎตายตัว แม้แต่ Physio cream หรือ Cetaphil ที่เหมาะกับผิวแพ้ง่าย บางคนก็อาจจะใช้ไม่ได้ ต้องล้างหน้าด้วยน้ำเปล่าและงดการทาครีมทุกชนิด เรียกว่า พักผิว 100%  หากคันมากก็ทานยาแก้แพ้กลุ่มแอนตี้ฮีสตามีนเพื่อบรรเทาอาการคันเป็นครั้งๆ ไป ในบางรายอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูผิวนานร่วมปี  กรณีอาการรุนแรงแนะนำให้พบแพทย์ผิวหนัง

หลังจากมีกระแสครีมในอินเทอร์เนตผสมสารต้องห้าม หลายคนก็เกิดความกลัวว่าครีมที่ตนใช้อยู่นั้น ปลอดภัยหรือไม่  และบางคนก็เข้าใจผิดว่าอาการที่ตนเป็นอยู่นั้นต้องเป็นอาการติดสเตอรอยด์แน่ๆ  ก่อนจะตัดสินใจว่าครีมที่ตัวเองใช้อยู่มีสเตอรอยด์หรือไม่  ให้สังเกตดังนี้ค่ะ

1. ใช้แล้ว หน้าเงาใสดั่งกระจก ใสจนมองเห็นเส้นเลือด
2. ใช้แล้ว สิวฝ้าหายราวกับเสก  จนคนรอบข้างทักว่าไม่น่าจะดีได้ขนาดนี้
3. ใช้แล้ว ผิว เรียบเนียนนุ่ม ราวก้นเด็ก
4. ใช้แล้ว ขนบริเวณที่ทาครีม ยาวขึ้นผิดปกติ
5. ใช้แล้ว ผดผื่นคัน ผิวลอกแดง ดีขึ้นใน 1-3 วัน

ข้อ 1- 4 ต้องใช้ไปสักพักจึงจะทราบ ดีไม่ดีหน้าอาจจะติดสเตอรอยด์ไปแล้ว

ข้อ 5 ข้อนี้สังเกตง่ายและเร็วค่ะ กรณีไม่มีผดผื่นคันที่หน้า ก็ลองเอาครีมนั้นไปทาผื่นคันส่วนใดก็ได้ของร่างกาย ถ้าผื่นคันนั้นดีขึ้นใน 1-2 วัน ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่ามีสเตอรอยด์  หรือในบางคนที่มีปัญหาเป็นโรคเซบเดิร์มอยู่แล้วก็ลองเอาครีมนั้นทาเซบเดิร์มดู ถ้าทาแล้วเซบเดิร์มหายใน 3-5 วัน ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่ามีสเตอรอยด์   เพราะครีมบำรุงผิวธรรมดาทำไม่ได้ค่ะ

" ชัวร์สุดคือการส่งครีมไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ควรตรวจเองด้วยวิธีบ้านๆแล้วประกาศว่าครีมนี้มีสเตอรอยด์นะคะ เพราะอาจจะโดนฟ้องได้ค่ะ "


การดูแล ผิวติดสเตอรอยด์ และอยู่ระหว่างการเห่อ (flare up)

1. ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรปราศจาก สบู่ น้ำหอม AHA/BHA  แนะนำ ผงแป้งอะมิโน
2. เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เน้นให้ผิวแข็งแรง เพิ่มความชุ่มชื้น แนะนำ  ครีมข้าวสาลี  หรือ  เจลคอลลาเจนเปปไทด์
3. งดการใช้ผลิตภัณฑ์เร่งหน้าขาว ลดริ้วรอยเร่งด่วน เร่งหน้าใส
4. งดการลอกหน้า ขัดหน้า นวดหน้า
5. งดการออกแดด เพราะผิวที่โดนแสงแดดจะฟื้นตัวเองช้าและมักกระตุ้นการเห่อ
6. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์
7. กรณีไม่แพ้เหงื่อตัวเอง แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อให้เหงื่อและความร้อนในตัวช่วยทำความสะอาดรูขุมขน

คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับการรักษา ผิวติดสเตอรอยด์

1. คำถาม ครีมรีแพร์ผิวติดสเตอรอยด์ เจลดีทอกซ์ ล้างสารพิษออกจากผิว ทำได้จริงมั้ย แล้วมันทำให้ผิวดีขึ้นจริงหรือเปล่า  ซื้อมาใช้แล้วหน้าตึงกว่าเดิม หน้าแดงกว่าเดิม
ตอบ สเตอรอยด์ที่เราทาใปบนผิวสะสม ไม่มีอะไรไปดูดมันออกมาจากผิวได้ แล้วทำยังไงล่ะ ที่จะเอาสเตอรอยด์ทตกค้างออกได้ ตอบ ไม่ต้องทำอะไร เพราะจริงๆแล้วขณะที่เราใช้ครีม สเตอรอยด์มันได้ถูกชะออกไปตอนล้างหน้าประมาณ 99% เหลือแค่ 1 % ที่จะตกค้างบนผิวและบางส่วนอาจจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเราหยุดใช้  เจ้าสเตอรอยด์ที่เคยตกค้างบนผิว มันก็จะค่อยๆหมดไปเองจากการทำความสะอาดผิวประจำวัน + การผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติ  ส่วนสเตอรอยด์บางส่วนที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดก็จะค่อยๆหมดฤทธิ์ไปเองจากระบบเมตาบอลิซึมและการขับถ่ายยาของร่างกาย

ระวังถูกหลอกขายครีมขับสเตอรอยด์  ความเข้าใจที่ว่าอาการ " แดง แสบ คัน สิวเห่อทั้งหน้า ใช้อะไรก็แพ้ " เพราะสเตอรอยด์ยังติดค้างอยู่ใต้ผิว  เป็นความเข้าใจที่ผิด ความจริงก็คือ " อาการแดง แสบ คัน สิวเห่อทั้งหน้า ใช้อะไรก็แพ้ " นั้นเป็นผลจากการที่สเตอรอยด์ไปทำลายผิวจนพัง ทำลายไปทีละนิดในช่วงที่ใช้ครีม โดยคนใช้เองไม่รู้ตัว  เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็จะแสดงอาการออกมา ดังนั้น
1. เจลดีทอกซ์ คือเจลที่ช่วยทำความสะอาดผิว เหมือนเจลล้างหน้าทั่วๆไป จึงไม่ได้มีฤทธิ์ขับสเตอรอยด์แต่อย่างใด
2. ครีมรีแพร์ ถ้ามีส่วนผสมที่ช่วยฟื้นฟู  skin barrier + คอลลาเจนและอีลาสติน  ก็อาจจะ ช่วยบรรเทาและทำให้ผิวกลับมาแข็งแรงได้เร็วขึ้น

" แม้ครีมบำรุงจะมีส่วนผสมชั้นเลิศ ฟื้นฟูโครงสร้างผิวได้ดีบลาๆ แต่อย่าลืมว่าผิวที่ติดสเตอรอยด์นั้นพร้อมที่จะแพ้ทุกอย่างได้ตลอดเวลา การลองใช้คือวิธีเดียวที่จะรู้ว่า จะแพ้หรือไม่ "


อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่พบจากการใช้ยาหรือครีมที่ผสมสเตอรอยด์


1. อาการผิวหนังฝ่อ  (atrophy) เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เกิดจากสเตอรอยด์ไปทำลายเซลล์ fibroblast ในชั้นหนังแท้ ทำให้การผลิตคอลลาเจนและสารจำพวก mucopolysaccharides ลดลง ผิวหนังจึงฝ่อและเหี่ยว ด้วยกลไกนี้จึงมีการฉีดสเตอรอยด์กับแผลเป็นนูน (Keloid) เพื่อให้แผลยุบลง 



ภาพผิวหนังฝ่อ (Atrophy) ร่วมกับการเกิดจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง (bruise) 


2.  ผิวแตกลาย  (Straie, rubrae distensae)  อ่าน ตัวอย่างกรณีศึกษาจาก pantip  

สเตอรอยด์ทำให้เกิดการอักเสบและการบวมของชั้นหนังแท้ เกิดเป็นแผลและมีการสร้างคอลลาเจนตามแนวแผล กลายเป็นรอยนูนมองเห็นจากด้านนอก  ผิวแตกลายจากสเตอรอยด์จะมีลักษณะเฉพาะคือมีสีแดง ในบางคนอาจรู้สึกเจ็บ เป็นแล้วถาวร ไม่หาย  ต่างจากรอยแตกจากความอ้วน การตั้งครรภ์ที่สีจะซีดขาว และจางลงได้เมื่อเวลาผ่านไป



ภาพรอยแตกลายจากการทาสเตอรอยด์


3. เส้นเลือดฝอยขยาย (Telangiectasia)
สเตอรอยด์มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว เกิดเป็นปื้นแดง (ฝ้าเส้นเลือด) สเตอรอยด์ยังไปทำลายเส้นใยคอลลาเจนและอิลาสตินรอบเส้นเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนัง จนเกิดการหลวมตัว เส้นเลือดจึงแทรกผ่านชั้นผิวหนังขึ้นมาและมองเห็นชัดด้วยตาเปล่า เป็นที่มาของคำว่า หน้าใสจนมองเห็นเส้นเลือด



ภาพเส้นเลือดใต้ผิวหนังขยายกลายเป็นฝ้าเส้นเลือด


4.  ขนยาวผิดปกติ (Hypertrichosis)
สเตอรอยด์ กระตุ้นการเจริญเติบโตของขนอ่อน (vellus hair) ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด ผลข้างเคียงนี้มักพบกับสเตอรอยด์ชนิดรับประทาน


ขนยาว สิวสเตอรอยด์ หน้าแดงจากเส้นเลือดขยาย

5. ผิวซีด ด่างขาว (Hypopigmentation)
สเตอรอยด์มีฤทธิ์ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีมีขนาดเล็กฝ่อลง การผลิตเม็ดสีลดลง เมื่อเม็ดสีมีปริมาณลดลง สีผิวจึงขาว คนที่เป็นฝ้ากระใช้หน้าก็เลยใส แต่หลังหยุดใช้สีผิวก็จะกลับไปคล้ำเหมือนเดิม



ภาพรอยด่างขาว (Hypopigmentation) จากการใช้สเตอรอยด์ บางจุดมีจ้ำเลือด (bruise)


ฝากไว้ท้ายสุด :  ยาทุกชนิดมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์ ต้องใช้ให้เป็น ในทางการแพทย์ สเตอรอยด์เป็นยาที่มีประโยชน์ หากไม่มียานี้ ผู้ป่วยบางโรคก็อาจจะไม่มีชีวิตรอดเช่นกัน ยาจะดีไม่ดีอยู่ที่การใช้ให้เป็น

 

คำถามที่พบบ่อย อัพเดทเพิ่ม 29/9/2560
ใช้ครีมยี่ห้อหนึ่ง พอหยุดแล้วคันหน้า เปลี่ยนครีมไม่ได้เลย แบบนี้คือ แพ้สเตียรอยด์ ใช่ไหมคะ
ตอบ ไม่ใช่อาการแพ้ค่ะ แต่เป็นอาการของ "ผิวติดสเตียรอยด์" + “อาการถอนยา”

การแพ้ครีมใดๆเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไปต่อต้านส่วนผสมบางอย่างในครีม แต่ตัวสเตียรอยด์เองมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ครีมที่แอบใส่สเตียรอยด์ ใช้ยังไงก็ไม่มีทางแพ้ค่ะ

คนใช้จึงรู้สึกว่า ครีมนี้ดีจัง นอกจากจะไม่แพ้แล้ว หน้ายังใสเหมือนกระจก เนียนนิ่มดั่งก้นเด็กแรกเกิด ฝ้ากระก็หาย สิวก็หาย และเมื่อใช้ผ่านไปสักระยะ ครีมหมด ไม่มีเงินซื้อมาใช้ต่อเนื่อง ,เดินทางไกลแล้วลืมเอาครีมไป ,หรือแอบปันใจไปลองครีมยี่ห้ออื่นไม่กี่วันหลังจากนั้นก็เกิดอาการ "หน้าแหก" สิวขึ้น ผื่นแดง คันทั้งหน้า แต่พอกลับไปใช้ครีมเดิม หายเป็นปลิดทิ้ง!

นี่คืออาการของ ผิวติดสเตียรอยด์ หยุดไม่ได้ หยุดเมื่อไหร่เกิดอาการถอนยาทันที ไม่ใช่อาการแพ้สเตียรอยด์

 

อ้างอิง
1.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4171912/
2.http://www.idoj.in/article.asp?issn=2229-5178;year=2014;volume=5;issue=4;spage=416;epage=425;aulast=Coondoo
3.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16384751


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้