Last updated: 13 ก.ค. 2566 | 180501 จำนวนผู้เข้าชม |
7 Retinol Facts That Are Actually Myths, According to a Dermatologist
เรตินอล เป็นแอคทีฟเครื่องสำอางที่มีความมหัศจรรย์ ทั้งทางด้านการลดริ้วรอย ลดจุดด่างดำ ลดการอุดตัน ช่วยให้หน้าใสขึ้น แต่หลายๆคนยังมีความกังวลที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอล เนื่องจากมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรตินอลอยู่ค่อนข้างมาก เช่น เรตินอลมีฤทธิ์ลอกผิว ใช้เรตินอลแล้วโดนแดดไม่ได้ แน่นอนว่า เรตินอล อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคนในโลกนี้ แต่ก็ไม่ควรด่วนสรุปว่า เราไม่เหมาะกับเรตินอล ถ้าเรายังไม่เคยลองใช้มันอย่างถูกวิธี
เรามาดูความเชื่อผิดๆและความจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรตินอล ที่อาจจะทำให้คุณเปลี่ยนความคิดเดิมๆไปเลย
ความเชื่อที่ 1 ถ้าใช้เรตินอล ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด
ความจริง : ไม่จำเป็นที่จะต้องเลี่ยงแสงแดด แม้ว่าเรตินอลจะทำให้ผิวมีความไวต่อแสงมากขึ้น แต่การทาครีมกันแดดอย่างเพียงพอ จะช่วยลดปัญหานี้ได้ และแม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้เรตินอล เราก็ควรทาครีมกันแดดทุกวันอยู่แล้ว อีกทั้งส่วนประกอบอื่นๆในเครื่องสำอางที่ไม่ใช่เรตินอลก็อาจทำให้ผิวเราไวต่อแสงได้เช่นกัน
ความเชื่อที่ 2 เรตินอล มีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว
ความจริง : เรตินอลไม่ได้มีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิวเหมือน AHA หรือ BHA เพราะหลักการผลัดเซลล์ผิว ( Exfoliation) ในทางการแพทย์ หมายถึงการที่สารนั้นไปทำลายสะพานเชื่อมเซลล์ขี้ไคลให้หลวมและขาดลง ทำให้เซลล์ผิวหลุดออก แต่สำหรับเรตินอลแล้ว ไม่ได้มีฤทธิ์ทำลายสะพานเชื่อมเซลล์นี้แต่อย่างใด ดังนั้นเราจะไม่จัดว่า เรตินอลมีฤทธิ์ในการผลัดเซลล์ผิวแบบ AHA หรือ BHA
การที่ผิวลอกหลังจากใช้เรตินอลนั้น เชื่อกันว่าเกิดจาก 2 กลไก คือ
1. เรตินอลไปกระตุ้นกระบวนการ cell turnover จากด้านล่างขึ้นมา ซิ่งผิวใหม่ที่ขึ้นมายังไม่แข็งแรงเต็มที่ จึงเกิดการลอกได้ง่าย
2. เมื่อเราทาเรตินอลลงบนผิว เรตินอลจะถูกเปลี่ยนไปเป็น กรดวิตามินเอ ซึ่งกรดวิตามินเอ มีฤทธิ์ระคายเคือง ทำให้ผิวลอกได้
ดูเหมือนจะเป็นข้อเสีย แต่มองในทางที่ดี มันกลับช่วยลดการอุดตันของคอมีโดน นั่นแปลว่า มันช่วยลดการเกิดสิว แต่อย่าปล่อยให้ผิวลอกเกินไป เพราะแทนที่สิวอุดตันจะลดลงเพียงอย่างเดียว อาจจะได้การระคายเคืองเป็นของแถม สำหรับคนที่ใช้เรตินอลแล้วมีอาการระคายเคืองผิว ถึงขั้น "ผิวลอก" เพียงแค่ลดความเข้มข้นลงมา และทาครีมบำรุงที่มีมอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มขึ้น ก็ช่วยลดปัญหานี้ได้ค่ะ
ความเชื่อที่ 3 อย่าทาเรตินอลรอบดวงตา
ความจริง : ทาได้ตามปกติค่ะ แม้ว่าผิวรอบดวงตาเป็นส่วนที่มีต่อมไขมันน้อย แห้งง่าย มีชั้นผิวที่บาง ทำให้ผิวบริเวณนี้อาจไวกว่าผิวบริเวณอื่น แต่เราป้องกันได้ โดยการเลือกความเข้มข้นของเรตินอลที่เหมาะสม และระมัดระวังในการทา รวมถึงการทามอยเจอร์ไรเซอร์มากๆตามหลังการทาเรตินอล
ความเชื่อที่ 4 จะต้องเห็นผลใน 1 เดือน
ความจริง : แม้ว่าเรตินอลจะเป็นส่วนผสมมหัศจรรย์ที่ทำได้หลายอย่าง แต่มันต้องใช้เวลาในการทำงาน เพราะเป็นการทำงานมาจากผิวด้านล่างไล่ขึ้นมาชั้นบน การจะเห็นผลจึงไม่เร็วนัก เราจะเริ่มสังเกตเห็นผลของเรตินอลได้ที่ 12 สัปดาห์
ความเชื่อที่ 5 ห้ามทาเรตินอลช่วงกลางวัน
ความจริง : สามารถทาเรตินอลในช่วงกลางวันได้ตามปกติ แล้วตามด้วยครีมกันแดด แม้ว่าจากการศึกษาจะพบว่า เมื่อเรตินอลถูกแดด จะทำให้สลายไปบ้าง แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่วนความเชื่อที่ว่าถ้าทาเรตินอลตอนกลางวัน จะทำให้ผิวไวต่อแดดมากกว่าปกตินั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ว่าจะทาเรตินอลเวลาใด ก็ทำให้ผิวไวต่อแดดได้ทั้งนั้น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ทาครีมกันแดดทุกวันในปริมาณที่เพียงพอ เลือกความเข้มข้นที่เหมาะสม และทามอยส์เจอรไรเซอร์ควบคู่ด้วยเสมอ
ความเชื่อที่ 6 ห้ามทาเรตินอลพร้อมกับ AHA และ BHA เพราะ pH มีผลต่อการออกฤทธิ์ของเรตินอล
ความจริง : ยังไม่มีงานวิจัยใดที่น่าเชื่อถือพอจะสรุปได้ว่า pH จาก AHA และ BHA ทำให้เรตินอลออกฤทธิ์น้อยลง ในทางกลับกัน AHA และ BHA อาจจะช่วยให้การดูดซึมของเรตินอลสูงขึ้น แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือ เรื่องของการะคายเคืองหากใช้พร้อมกัน
ความเชื่อที่ 7 ห้ามทาเรตินอลพร้อมวิตามินซี
ความจริง : วิตามินซีบางอนุพันธุ์อาจทำให้ผิวมี pH เป็นกรด แต่ความเป็นกรดจากวิตามินซี ไม่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของเรตินอลแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ผลิตภัณฑ์ที่มีเรตินอล ร่วมกับวิตามิน C และ E กลับทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว โดยวิตามินซีและอี ช่วยทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการสลายตัวของเรตินอล ทำให้เราได้รับฤทธิ์จาก เรตินอลได้อย่างเต็มที่
ที่มา
1. บทความของ DR. RACHEL NAZARIAN Board-Certified Dermatologist
2. เว็บ paulaschoice
28 มิ.ย. 2566