Last updated: 15 ม.ค. 2567 | 14440 จำนวนผู้เข้าชม |
ผิวที่สะอาดไม่ใช่ผิวที่ตึงหลังล้างหน้า การล้างหน้าที่ดี ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้องเหมาะกับสภาพผิวและขั้นตอนต้องถูกต้องค่ะ ก่อนจะไปเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว เรามารู้จักสิ่งสกปรกที่เกาะอยู่บนผิวเราก่อน
สิ่งสกปรกที่อยู่บนผิวเรามี 2 ประเภทหลักๆ
การล้างหน้าที่ถูกต้อง ควรทำ 2 ขั้นตอน (double cleansing) คือ 1. ขจัดสิ่งสกปรกที่ละลายในน้ำมัน ตามด้วย 2. ขจัดสิ่งสกปรกที่ละลายในน้ำ
1.ขั้นตอนที่ 1 การขจัดสิ่งสกปรกที่ละลายในน้ำมัน ในขณะที่หน้ายังแห้งอยู่ เรียกว่า การล้างแห้ง
หลักการของขั้นตอนนี้คือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตัวทำละลายเพื่อช่วยละลายคราบเมคอัพและกันแดดที่เกาะบนผิวให้หลุดออก โดยผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนนี้อาจอยู่ในรูป คลีนซิ่งมิลค์(cleansing mlk) คลีนซิ่งครีม(cleansing cream) คลีนซิ่งออยล์ (cleansing oil) และรูปแบบน้ำของเหลวใสที่เรียกว่า คลีนซิ่งวอเทอร์ (cleansing water)
2. ขั้นตอนที่2 ขจัดสิ่งสกปรกที่ละลายในน้ำ เรียกว่า การล้างเปียก
คือ การล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับน้ำ เพราะส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนนี้จะเป็นกลุ่มที่ผสมสารลดแรงตึงผิว ทำให้ผิวเปียกน้ำได้ดีขึ้น สิ่งสกปรกที่ละลายในน้ำก็จะถูกชะออกไปพร้อมกับน้ำ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนนี้ ทุกคนรู้จักกันดีค่ะ ก็คือ พวก โฟม เจล สบู่เหลว ผงแป้งล้างหน้า นั่นเอง
ข้อดีของการล้างแบบดับเบิ้ล คือ ผิวสะอาดแน่นอนค่ะ เพราะพวกเมคอัพล้างออกค่อนข้างยาก ถ้าเราไม่ผ่านขั้นตอน1 แต่ข้ามไป 2 เลย เราจะต้องล้างหลายรอบมาก เช่น 3 รอบขึ้นไป หน้าสะอาดจริง แต่ก็ตึงสุดๆ และ skin barrier อาจถูกทำลาย
ผลิตภัณฑ์ล้างแห้ง (คลีนซิ่ง) แบบไหนดี?
ตามประสบการณ์การใช้มาหลายรูปแบบ แนะนำ คลีนซิ่งออยล์ และ คลีนซิ่งวอเทอร์ค่ะ
1). คลีนซิ่งออยล์ ในสูตรจะผสมตัวทำละลายกลุ่มน้ำมันและอิมัลซิไฟเออร์มาในตัว เวลาเรานวดๆ ตัวทำละลายกลุ่มน้ำมันจะละลายคราบเมคอัพได้ดีมาก และเมื่อโดนน้ำ คราบเมคอัพจะะหลุดออกไปพร้อมกับน้ำ กลายเป็นสีขาวๆ ที่เราเรียกติดปากว่า น้ำนม โดยทิ้งความมันที่ผิวไว้เล็กน้อยหรือไม่เหลือความมันเลย เมื่อความมันเหลือน้อย ทำให้เราทำความสะอาดขั้นตอนที่ 2 ได้ง่ายขึ้นมากๆๆๆๆ
2). คลีนซิ่งวอเทอร์ พวกนี้มักเป็น oil free แทบไม่เหลือความมันติดหน้า ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำมันตกค้างบนผิว แต่อาจจะต้องเช็ด สัก 2 รอบ กรณีแต่งหน้าเข้มมาก จึงจะออกหมด
ส่วนคลีนซิ่งจำพวก น้ำนม โลชั่น ครีม ที่เนื้อขาวๆทั้งหลาย พวกนี้หลักๆก็จะมี น้ำ + ซิลิโคน + น้ำมันและมักเป็น mineral oil ซะด้วย มักทิ้งความมันไว้มาก พอเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 อาจต้องล้างหลายรอบกว่าความมันจะออกหมด ทำให้หน้าแห้งไปอีก
ผลิตภัณฑ์ล้างเปียก (ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับน้ำ) แบบไหนดี
หลักๆ คือ แยกให้ได้ก่อนว่า เป็น soap free หรือ soap base คำว่า soap หมายถึง สบู่ เกิดจากการทำปฎิกิริยาของกรดไขมัน กับ ด่างแก่ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบสบู่ก้อน สบู่เหลว หรือแบบโฟมล้างหน้าก็ได้ ดังนั้นการจะแยกว่าอะไรเป็นสบู่หรือไม่เป็นสบู่ ให้ดูจากส่วนผสมบนฉลากผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่ดูรูปลักษณ์ค่ะ
ผลิตภัณฑ์ที่จัดเป็น " สบู่ " จะพบส่วนผสมดังต่อไปนี้บนฉลาก
1. กรดไขมัน เช่น Linoleic Acid, Lauric acid , Palmitic acid , Myristic acid , Stearic acid
2. ด่างแก่ เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide) ในสบู่ก้อน ,โปตัสเซี่ยม ไฮดรอกไซด์ (Potassium hydroxide) ในสบู่เหลว
ตามหลักการเราควรเลือกผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่เป็น soap free จะดีกว่า soap base เพราะการล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่จัดเป็น " สบู่ " อาจเกิดการระคายเคืองได้ในผู้ที่มีผิว sensitive มาก หรือมีการตกค้างของ ไคลสบู่ บนผิว เมื่อใช้กับน้ำกระด้าง
หลังจากแยกได้แล้วว่าอันไหนเป็น soap base หรือ soap free ทีนี้ก็มาวิเคราะห์ต่ออีกทีว่า พวก soap free ทั้งหลาย อะไรจะดีกว่าอะไรให้ดูที่ชนิดสารลดแรงตึงผิวและส่วนประกอบโดยรวมของผลิตภัณฑ์ ถ้าล้างแล้วทำให้ผิวตึงฝืดควรเลี่ยงค่ะ แต่ถ้าล้างหน้าหน้าสะอาดและผิวนุ่มลื่น อันนี้คือโอเคเลย
ตัวอย่างสารทำความสะอาดที่อ่อนโยน : Sodium Laureth Sulfate, Cocamidopropyl Hydroxysultaine, Tea-Cocoyl Glutamate, Lauramidopropyl Betaine, Decyl Glucoside, Coco-Betaine, Sodium Cocoyl Isethionate, Sodium Lauroamphoacetate
ตัวอย่างสารทำความสะอาดที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่มีผิว sensitive : Sodium Lauryl Sulfate
สรุปหลักการง่ายๆในการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าชนิดล้างเปียก คือเมื่อล้างแล้วจะต้อง สะอาด นิ่ม ลื่น ไม่ใช่ สะอาด ตึง ฝืด