Last updated: 15 ก.ค. 2566 | 35340 จำนวนผู้เข้าชม |
สารกันเสียในเครื่องสำอาง ถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ต้องใช้ในการผลิต ถ้าไม่ใส่ ครีมจะอยู่ได้ไม่นาน เชื้อก็จะขึ้น ทั้งแบคทีเรีย รา ใช้ได้แป๊บเดียว ครีมก็เน่าเสียแล้ว สุดแสนจะเสียดายเงิน บริษัทผู้ผลิตก็เสียชื่อเสียงอีกด้วย
ในขณะที่เทรนด์เครื่องสำอางแบบออร์แกนิคกำลังมาแรง ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนประกอบเครื่องสำอางได้ง่ายและมีการตื่นตัวในการเลือกใช้มากขึ้น มีการวิเคราะห์ส่วนผสมก่อนซื้อ สารไหนดีไม่ดี มีการให้ไฟเขียวไฟแดง ผ่านไม่ผ่าน รีวิวและบอกต่อๆกัน โดยเฉพาะการแชร์ในโซเชียล ข้อมูลกระจายไปไวมาก ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่ามันมีผลกระทบต่อยอดขายแบรนด์พอสมควร
สารกันเสียเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่พยายามเลี่ยงสารกันเสียกลุ่มพาราเบนที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ รวมถึง น้ำหอม แอลกฮอฮอล์ ก็เป็นส่วนประกอบที่ติด black list ด้วยเช่นกัน
เมื่อสารกันเสียกลายเป็นจุดอ่อน ในทางกลับกันมันก็กลายเป็นโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตนำจุดอ่อนนี้มาเป็นจุดแข็งให้กับสินค้าของตัวเอง โดยการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็น Preservative free แปลเป็นไทยคือ ปราศจากสารกันเสีย เพื่อจูงให้ลูกค้าหันมาใช้สินค้าของตนมากขึ้น
Preservative free แท้จริงแล้วมันคืออะไร?
ตอบ มันเป็นศัพท์เทคนิคของผู้ผลิต ที่ใช้เคลมผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ดูอ่อนโยน อะไรประมาณนั้น จริงๆก็ไม่ได้เกี่ยวกันเท่าไหร่ ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ต้องดูส่วนประกอบโดยรวม ไม่ใช่ดูแค่ว่ามีสารกันเสียหรือเปล่า
คำว่า Preservative free หมายถึง ในสูตรไม่มีการใส่สาร ที่ อย. จัดเป็น " สารกันเสีย" แม้ว่าสารที่ใส่บางตัวจะมีคุณสมบติเป็นสารกันเสียก็เถอะ
เช่น ครีมยี่ห้อ ก มีสารที่ใส่ 8 ตัว คือ A,B,C,D,E,F,G,H สารทั้ง 8 ตัวนี้ ไม่มีสารใดเลยที่จัดเป็นสารกันเสีย ตามประกาศของ " อย." แม้ว่าสาร A ในผลิตภัณฑ์จะมีคุณฤทธิ์ต้านเชื้อได้ แต่เนืองด้วย อย.จัดประเภทสาร A เป็น "ตัวทำละลาย" ไม่ใช่ " สารกันเสีย" ดังนั้นสูตรนี้จึงเคลมคำว่า Preservative free ได้
อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง ยังมีเทคนิคการทำเครื่องสำอางให้สามารถเคลมเป็น preservative free ได้หลายแบบ
1.ผลิตภัณฑ์ที่เป็น oil base ( มีน้ำเป็นส่วนประกอบน้อยที่สุด) ปกติเชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำ ถ้าในสูตรไม่มีน้ำหรือมีน้ำน้อยมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่สารกันเสีย ครีมก็อยู่ได้
2.ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เบสเป็นตัวทำลายบางชนิดที่ให้ความร้อน เช่น glycol หรือ glycerin พวกนี้เป็นกลุ่ม self heating มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อได้
3.ใช้สารบางอย่างที่ต้านเชื้อได้ด้วยตัวมันเอง เช่น alcohol, glycerin, เกลือ โดยใส่ใน% สูง
4.การปรับ pH ของผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในช่วงที่เชื้อไม่สามารถเจริญเติบโตได้
5.ใช้สารบางชนิดที่ได้รับการวิจัยและผลิตมาเพื่อรองรับการเคลม preservative Free โดยเฉพาะ ซึ่ง อย.จัดกลุ่มสารเหล่านี้เป็น สารทำละลาย หรือสารนำพา หรือ อื่นๆ แต่ตัวมันเองนั้นมีฤทธิ์ต้านเชื้อได้ด้วย คือทำทำหน้าที่ได้ 2 อย่างในผลิตภัณฑ์
6. บรรจุในภาชนะระบบปิด 100% ไม่ให้เนื้อผลิตภัณฑ์สัมผัสอากาศ ฝุ่น เชื้อโรคก็จะไม่สามารถเข้าไปในบรรจุภัณฑ์ได้
คำถามที่พบบ่อย
1. ครีมฟาร์มาบิวตี้แคร์มีสารกันเสียหรือไม่ ?
ตอบ มีค่ะ ทุกตัวมีสารกันเสีย ทั้งแบบสารกันเสียที่ใส่ไปโดยตรงหรือสารกันเสียแบบข้อที่ 5 โดยเราพยายามเลี่ยงสารกันเสียกลุ่มพาราเบนให้ได้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
2. เป็นคนแพ้สารกันเสีย ทำยังไงดี
ตอบ ความเข้าใจว่าตัวเองแพ้ครีมกันเสีย คิดว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิดค่ะ เพราะถ้าแพ้จริง คนๆนั้นจะใช้สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ใดๆไม่ได้เลย เพราะพวกนี้ก็มีสารกันเสียทั้งนั้นและเป็นสารกันเสียราคาถูกๆเสียด้วย บางคนทาครีมแล้วสิวขึ้น ก็คิดเองว่าแพ้สารกันเสีย แพ้น้ำหอม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ก็ได้ การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของแวกซ์ น้ำมันหนักๆบางชนิดก็ทำให้เกิดคอมีโดนกลายเป็นสิวอุดตันได้
3. ใช้ครีมสมุนไพรสิ ไม่มีสารกันเสีย
ตอบ : ไม่จริงเลยค่ะ ถ้าครีมนั้นมีการนำออกมาวางขายนานเป็นเดือนๆ ยังไงก็ต้องใส่ค่ะ ถ้าไม่ใส่เชื้อโรคก็ขึ้นแน่นอน คำว่า ครีมสมุนไพร หรือ ครีมไร้สารเคมี100% นี่ก็เป็นศัพท์เทคนิค ที่ใช้กันกว้างขวาง เพื่อสื่อให้ผู้ใช้รู้สึกว่า ปลอดภัย และ ธรรมชาติ ซึ่งออกจะเป็นการ mislead ผู้บริโภคด้วยซ้ำ อย.น่าจะออกมาจัดการตรงนี้บ้างก็ดีเนาะ
4. บีบน้ำจากพืช คั้นสดๆมาไว้ใช้เอง ไม่ใส่สารกันเสียได้ไหม?
ตอบ ได้ค่ะ แต่ใช้ได้ไม่นานนะคะ สัก5-7 วันหรือน้อยกว่านั้นก็ควรทิ้ง เพราะการคั้นด้วยน้ำ ยังไงก็มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เชื้อขึ้นได้ง่ายมาก อย่าวิตกกังวลมากเกินไปว่าครีมสมัยนี้ไม่ธรรมชาติ คือ อะไรที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ทั้งกินและทา ก็ไม่ค่อยธรรมชาติหรอกค่ะ ออกไปกินไก่ทอดผู้พัน หมึกย่างรสเด็ด พวกนี้ก็สารสังเคราะห์ปนมาเยอะแยะ
การบีบน้ำจากพืชมาใช้ โดยหวังว่าได้ธรรมชาติ100% ฟินดีจัง ก็ฟินจริง แต่ได้สารสำคัญจากพืชนั้นออกมาหรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะสารสำคัญในพืชไม่ใช่ว่าจะสกัดได้ด้วย "น้ำ" และสกัดได้ด้วยการ "คั้น" เสมอไป
ในกระบวนการสกัดจริงๆมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เครื่องมือหลายอย่างช่วยกัน จึงจะได้สารสำคัญออกมา พอได้ออกมาแล้วก็ต้องนำไปวิเคราะห์ต่อว่าได้สารสำคัญออกมามากน้อยแค่ไหน มีความบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน มีสารอื่นปนเปื้อนมาหรือไม่ ถ้าวิธีการสกัดเดิมไม่เวิร์ค ก็ต้องเริ่มต้นด้วยวิธีใหม่ ทดลองไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจอวิธีสกัดที่ดีที่สุด สารสกัดที่ดี สกัดยาก จึงมีราคาแพง กว่าจะได้ออกมาใส่ในครีมให้เราได้ใช้
อันนี้เป็นจุดที่คนทั่วๆไปไม่ค่อยจะรู้ ส่วนใหญ่จะคิดว่าการสกัด คือ การคั้นด้วยน้ำ และก็คิดต่อง่ายๆว่า การผลิตครีมไม่ยาก เหมือนการทำกับข้าวมั้ง เอาอันนั้นผสมอันนี้ คนๆกวนๆได้ออกมาก็ขายได้ เป็นที่มาของคำว่า "กวนครีมขายเอง" แบบที่ระบาดในเฟสบุคตอนนี้