ผิวแพ้ง่าย ผิวระคายเคืองง่าย ไม่เหมือนกัน อย่าสับสน บทความโดยเภสัชกร

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  82162 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผิวแพ้ง่าย ผิวระคายเคืองง่าย ไม่เหมือนกัน อย่าสับสน  บทความโดยเภสัชกร

จะลองใช้ครีมที่ซื้อมาใหม่ มีวิธีทดสอบอย่างไร ว่าเราจะแพ้มั้ย 

วิธีทดสอบว่าเราจะแพ้ผลิตภัณฑ์หรือสารดังกล่าวหรือไม่ ทำได้ง่ายๆ ด้วยวิธี Open patch test ดังนี้
ทาผลิตภัณฑ์นั้นบางๆ บริเวณท้องแขนด้านใดด้านหนึ่ง วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ทาจุดเดิมทุกครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน หรือเพิ่มเป็น 7 วันเพื่อความแน่นอน ถ้ามีอาการคันหรือผื่นทั่วบริเวณที่ทา ในระหว่างการทดสอบ สรุปได้ว่าคุณอาจแพ้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ  ห้ามเอามาทาหน้าเด็ดขาด  

วิธีนี้เป็นการทดสอบเบื้องต้น โดยดูผลที่ 3-7 วัน  แต่ก็มีรายงานว่าการแพ้บางอย่างในบางคนใช้เวลานานกว่านั้น เช่น เริ่มมีอาการแพ้หลังใช้ติดต่อกันไปแล้วหลายเดือนหรือเป็นปีและหลังจากนั้นก็ มีอาการทุกครั้งที่ใช้  หมายถึงถ้าได้แพ้แล้ว ใช้ซ้ำอีกกี่ครั้งก็แพ้ตลอด

 
 
  • อยากหน้าขาว อยากหน้าใส แต่เป็นคนผิวแพ้ง่าย ทำอย่างไรดี 
  • ใช้แล้วจะแพ้มั้ย
  • เป็นคนผิวแพ้ง่าย ช่วยเลือกครีมให้ด้วยค่ะ  
ก่อนจะตัดสินว่าตัวเองเป็นคน ผิวแพ้ง่าย  มาอ่านบทความนี้ก่อนนะคะ
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเมื่อเกิดอาการแสบ คัน หรือแดง หรือความผิดปกติจากการใช้เครื่องสำอางจะเป็นการแพ้ไปทั้งหมดซึ่งในความจริงแล้วเมื่อเกิดอาการดังกล่าว ส่วนใหญ่มากกว่า 80-90 % จะเป็นการระคายเคือง ที่เหลืออีก 10-20% เท่านั้นที่เป็นการแพ้จริงๆ



อาการผิดปกติจากการใช้เครื่องสำอางมี 2 ประเภทหลักๆ
1.  การระคายเคือง  Irritant contact dermatitis :  พบได้ 80-90% เลยทีเดียวและมักเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ ไม่่ใช่แค่เราคนเดียว คนอื่นๆใช้ก็มีอาการเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่า ครีมนั้นๆอาจมีส่วนผสมของสารบางชนิดที่ก่อการระคายเคือง  

การระคายเคืองขึ้นกับ
  • ความแข็งแรงและสมบูรณ์ของผิวตอนนั้น : คนที่มีผิวแห้ง ลอก ผิวชั้นนอกขาดความสมบูรณ์ เรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เช่น กัดหน้ามาตลอด เพิ่งไปทำ laser  ตากแดดจัด กลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการระคายเคืองได้ง่ายกว่าคนทั่วไป  การดูแลผิวให้ถูกต้อง เน้นเสริมสร้าง skin barrier จะช่วยให้ผิวมีความแข็งแรงและทนต่อการระคายเคืองได้ดีขึ้น
  • ปริมาณที่ใช้ : ทามาก ระคายเคืองมาก ทาน้อย ระคายเคืองน้อย หยุดใช้อาการดีขึ้นและหายไป  พอกลับมาใช้ใหม่ บางทีก็มีอาการ บางทีก็ไม่มีอาการ
  • ระยะเวลาที่ใช้ : แรกๆที่ใช้ ไม่เป็นไร แต่วันดีคืนดี ก็มีอาการ อาจเป็นเพราะมีการระคายเคืองทีละนิดๆ จนสะสม
  • ความเข้มข้นของสารก่อระคายเคืองในผลิตภัณฑ์ : การระคายเคืองมักเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมบางชนิดเข้มข้นเกินไป หากลดความเข้มข้นลงก็จะไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองเช่น AHA ความเข้มข้นต่ำ เราจะไม่รู้สึกคันยิบๆ แต่ถ้าความเข้มข้นสูงขึ้น ก็จะรู้สึกแสบยิบๆเหมือนโดนเข็มแทง  


2.  การแพ้  Allergic contact dermatitis : พบเพียง 10-20%  
การแพ้ถือเป็นปฏิกิริยาส่วนบุคคล ผิวของแต่ละคนก็แพ้สารแตกต่างกันไป การจะรู้ว่าตนนั้นแพ้สารเคมีตัวไหน ต้องทำการทดสอบในห้องแลบของ รพ. เรียกว่าการทำ patch test  คำถามที่ว่า ครีมนี้หนูใช้ได้มั้ย ใช้แล้วจะแพ้มั้ย ไม่มีใครตอบได้ หมอที่เก่งที่สุดในโลกก็ตอบไม่ได้ นอกจากจะลองใช้และลองแพ้ดูสักครั้ง

การทำ patch test  เพื่อทดสอบหาสารที่แพ้ก่อนเป็นเรื่องที่ดี จากนั้นก็ค่อยมาเลือกเครื่องสำอางว่ามีสารที่แพ้ผสมอยู่หรือไม่ 
ผลการทำ patch test สามารถใช้อธิบายการแพ้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย หมายความว่า ถ้าทำ patch test ที่แผ่นหลังแล้วพบว่าเราแพ้สาร A   ถ้าเอาสาร A ไปทาที่หน้า ขา แขน หรือส่วนอื่นของร่างกาย ก็จะเกิดอาการแพ้เช่นเดียวกัน

ข้อสังเกตุ


1. ถ้าเราแพ้  ไม่ว่าจะทาผลิตภัณฑ์นั้นบนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ก็จะเกิดอาการ ผื่น บวม แดง คันได้เหมือนกันหมด  ข้อนี้เป็นความแตกต่างจากการระคายเคืองที่ชัดเจน อย่างที่ได้บอกไปว่าการระคายเคืองนั้นขึ้นกับความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของผิวหนัง  บางคนกัดหน้า ใช้ยารักษาสิวมาตลอด พอมาทาครีมก็เกิดอาการระคายเคืองได้ แต่พอเอาครีมนั้นไปทาท้องแขน ทาขา ทาแผ่นหลัง กลับไม่เป็นไรเลย

2. ผิวจะแข็งแรงสมบูรณ์หรือบางอ่อนแอ ก็แพ้ได้เหมือนกัน : การแพ้ไม่ได้ขึ้นกับว่าคุณจะมีผิวแข็งแรงหรือบางอ่อนแอ แต่คนที่ผิวบางอ่อนแอและกำลังเกิดการระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์บางอย่าง กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ได้ง่ายขึ้น
3. แค่ความเข้มข้นน้อยๆก็แพ้ได้ : ไม่ต้องทาเยอะ ทาบางๆก็แพ้ เพียงความเข้มข้นต่ำๆก็สามารถกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีต่อต้านได้

อาการแพ้ ที่สังเกตเห็นได้ชัดที่สุดคือ ผื่นแดง คัน บางคนอาจพัฒนาเป็นสิวและลุกลาม ควรแยกการแพ้และการระคายเคืองให้ออก แม้จะเป็นอะไรที่แยกยาก เพราะอาการใกล้เคียงกันมาก แต่ก็อยากให้พยายามแยกให้ได้ โดยหาเหตุผล เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้กับอาการที่เกิดขึ้น จะได้ป้องกันตัวเองได้ถูกและไม่เป็นการปิดโอกาสตัวเองที่จะได้ใช้สกินแคร์ตัวอื่น  เคยเจอหลายคน บอกว่าตัวเองแพ้วิตามินซี อะไรที่ผสมวิตามินซี ใช้ไม่ได้เลย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว แพ้ส่วนผสมอื่นที่อยู่ในสูตร

***********************

" แพ้หรือแค่แสร้งทำ"  คัดลอกมาจากเวบบลอกของ blogger ชื่อดัง คุณ Pupe So Sweet  เป็นคำอธิบายที่ดีมากๆ ลองอ่านกันดูนะคะ

ปัจจุบันมีเครื่องสำอางที่โฆษณาว่าออกแบบเพื่อ “Sensitive Skin” ซึ่งแปลออกมาอย่างผิด ๆ ว่า “ผิวบอบบาง ผิวแพ้ง่าย”

“Sensitive Skin” ที่จริงต้องให้ความหมายว่า “ผิวที่ไวต่อสิ่งรบกวนเป็นพิเศษ” ส่วน “Allergy-Prone Skin” ต่างหากที่แปลว่า “ผิวแพ้ง่าย”
กระผม สนับสนุนความคิดที่ว่าทุกคนควรเลือกซื้อเครื่องสำอางโดยคิดว่าตัวเองมีผิว sensitive เอาไว้ก่อน ถึงแม้ความจริงแล้วจะไม่ได้ sensitive สักเท่าไหร่ก็ตามเพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อการระคายเคือง แอลกอฮอล์ น้ำหอม สี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิวทุกชนิดควรหลีกเลี่ยงไม่ว่าจะ Sensitive จริงหรือไม่ก็ตาม

คำว่า “ผิวแพ้ง่าย” ถูกนำมาใช้กันอย่าง “พร่ำเพรื่อ” ซะเหลือเกินในปัจจุบันนี้ จนเหมือนเป็นแฟชั่นไปเสียแล้ว หรือเป็นเพราะว่าการป่าวประกาศบอกชาวบ้านว่าชั้นน่ะ “เป็นผิวแพ้ง่าย บอบบ๊าง บอบบาง แพ้ไปหมดทุกอย่าง ใช่นั่นก็แพ้ ใช้นี่ก็แพ้” จะทำให้ดูเหมือนเป็นคนบอบบาง น่าทะนุถนอมหรือรู้สึกเป็นผู้หญิ๊ง~ผู้หญิงเพิ่มขึ้นรึเปล่านะ? ใครจะไปรู้.....

Sensitive จริงแท้หรือแค่แสร้งทำ?

ถ้ามีผิว sensitive หรือ allergy-prone จริง ๆ ก็น่าเห็นใจ แต่ผู้ที่แสร้งทำว่ามีผิวบอบบางแพ้ง่ายนี่เห็นแล้วก็น่าสลด เพราะอะไรนั้นกระผมขอยกกรณีตัวอย่างที่เคยพบขึ้นมา

ผู้ถาม : เรามีผิวบอบบางระคายเคืองง่ายค่ะ โดนแดดมากหน่อยก็จะแสบแดงเป็นปื้น ๆ มีอาการของ Seb Derm ร่วมด้วย อยากลองหา Skincare สักชุดค่ะ ใครที่มีผิวแบบเดียวกันรบกวนช่วยกันคอมเมนท์ด้วยนะคะ

ความคิดเห็นที่ 1 : เราก็ผิวบอบบางแพ้ง่ายนะ ใช้ของมาเกือบทุกอย่างในโลกแล้วก็แพ้หมดเลย มาเจอน้ำโสมนี่แหล่ะใช้ดีจริง ๆ หน้าใสกิ้งเลย

ความคิดเห็นที่ 2 : เห็นด้วยกับ คห. 1 ค่ะ เราใช้น้ำโสมแล้วติดใจ เลยไปถอยสบู่ดำมาลองด้วย อ่อนโยนมากเลยค่ะ หน้าไม่แห้งตึง

ความคิดเห็นที่ 3 : แนะนำ 3-Step เลย ที่บ้านเราใช้กันทั้ง พี่ ทั้งแม่ ทั้งป้า ไม่มีใครแพ้เลยสักคน เจ้าโทนเนอร์สีม่วงสูตร 2 น่ะ เช็ดแล้วสดชื่นมาก

ความคิดเห็นที่ 4 : เราขอแนะนำให้ลอง ArtistXX ค่ะ เพราะของเขาผลิตจากอเมริกาในโรงงานมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตยา แถมมียอดขายติด 1 ใน 5 ของโลก รับรองว่าไม่แพ้แน่นอน เราใช้แล้วก็ชอบมากเลยค่ะ ยังไงสนใจติดต่อได้ที่ XXXX@YYYY.com

ความคิดเห็นที่ 5 : เราก็ผิวแพ้ง่ายมากเลยใช้ OrigiXX เพราะว่าเป็นของจากธรรมชาติ อ่อนโยนและไม่ทำให้แพ้ ไม่เหมือนพวกแบรนด์ทั่วไปที่มีแต่สารเคมี ทำให้หน้าบาง อ่อนแอ

อ่านแล้วก็เอามือกุมขมับแล้วก็สงสัยเหลือเกินว่าแต่ละคนที่มาแนะนำเนี่ยมีผิวบอบ บางแพ้ง่ายกันจริงเหรอ? เพราะ แต่ละผลิตภัณฑ์ที่เขาแนะนำกันมามีแต่สารก่อการระคายเคืองทั้งนั้น สบู่ก้อนทำให้ระคายเคืองผิว โทนเนอร์มีแต่แอลกอฮอล์ กับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีแต่ Fragrance Oil

คน ที่น่าเห็นใจที่สุดก็คือ “ผู้ถาม” ที่มีผิว sensitive จริง แต่ดันเจอ “ผู้ตอบ” ที่ไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้แสดงความคิดเห็นไป และแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับผิว sensitive เอาเสียเลย…

ถ้าเกิดคุณมีผิว sensitive จริง และใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยกับผิวบอบบางอย่างแท้จริง อยากแบ่งปันข้อมูลกับผู้ที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน อันนี้เป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุน

แต่ถ้าคุณคิดไปเองว่าตัวเองมีผิว Sensitive และใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ก่อปัญหาผิวได้ หรือไม่แน่ใจจริง ๆ ก็เลิกแนะนำแบบส่งเดชจะดีกว่า เพราะจะเป็นการทำบาปทำกรรมให้คนที่ประสบปัญหาจริง ๆ เขาเดือดร้อนเปล่า ๆ

ถ้าคุณเป็นคนขาย เป็นหน้าม้า หรือได้ผลประโยชน์จากการขายผลิตภัณฑ์ตัวที่แนะนำ ก็เลิกทำพฤติกรรมแบบนี้เถอะขอรับ


Allergic Reaction กับ Sensitizing Reaction ต่างกันอย่างไร?

อาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์จาก Skincare หรือ Makeup นั้นแบ่งได้ย่อย ๆ 2 ประเภท คือ
1. Allergic Reaction หรือ Allergy (การแพ้)
2. Sensitizing Reaction / Irritation (การระคายเคือง)

Allergic Reaction / Allergy หรือ “อาการแพ้” นั้น เป็นปัจจัยเฉพาะบุคคล ผิวของแต่ละคนก็แพ้สารแตกต่างกันไป การจะรู้ว่าตนนั้นแพ้สารเคมีตัวไหนโดยเฉพาะนั้นค่อนข้างยาก เพราะว่าในเครื่องสำอางมีส่วนผสมของสารเคมีจำนวนมาก ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์ผิวหนังที่มากประสบการณ์เท่านั้นในการวินิจฉัย
ทุกอย่าง ในโลกคือองค์ประกอบทางเคมี รวมทั้งสารสกัดจากธรรมชาติด้วย อย่าไปเข้าใจผิดว่าสารสกัดจากธรรมชาติไม่ใช่สารเคมีไม่ทำให้แพ้ อย่างที่โฆษณาและพวกคนขายเครื่องสำอางมักพูดกัน

ความเสียหายจากอาการแพ้จะเกิดขึ้นลึกลงไปในผิวชั้นกลาง (Dermis) อาจมีอาการค่อนข้างรุนแรงถึงรุนแรงมาก ตั้งแต่อาการบวมแดง ผิวหนังอักเสบ แสบร้อน ล้างผลิตภัณฑ์ออกก็ยังไม่หาย ถ้าแพ้มาก ๆ ก็ถึงขั้นเสียโฉมกันเลยทีเดียว การรักษาอาการแพ้นั้น... นอกจากการหยุดใช้สารก่ออาการแพ้แล้ว ยังต้องมียาทารักษาอาการแพ้ ลดการอักเสบ กับยารับประทานเพื่อบรรเทาอาการด้วย ส่วนมากต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ไม่มีผลิตภัณฑ์ชิ้นใดในโลกนี้ที่สามารถยืนยันการันตีได้ว่าคุณจะไม่มีทางแพ้กับผลิตภัณฑ์ตัวนั้นหรือตัวนี้ เพราะมันเป็นปัจจัยที่ต่างกันในแต่ละบุคคลและตัวคุณเองเท่านั้นที่ควรจะรู้ ตัวดีที่สุดว่าคุณแพ้อะไร... การอ่าน Ingredients List จะช่วยกรองสารก่อการระคายเคืองไปได้ แต่คุณใช้แล้วจะแพ้รึเปล่านั้น “ต้องไปลองเอง”

ถ้ารู้แบบนี้แล้ว ก็เลิกตั้งคำถามว่า “ผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะทำให้แพ้รึเปล่าคะ?” กันได้แล้ว เพราะไม่มีใครตอบได้ หรอกขอรับ...

Sensitizing Reaction / Irritation หรือ “การระคายเคือง”  อาการนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อผิวสัมผัสกับสารหรือสภาวะที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ได้ อย่างเช่น สภาวะความเป็นกรดมากเกินไป เป็นด่างมากเกินไป ร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไป ใช้สารเคมีหรือเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวแห้ง มีส่วนผสมสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายเป็นปริมาณมากหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

การหลีกเลี่ยงสารก่อระคายเคืองนั้นทำได้ง่ายกว่าสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้มาก เพราะมันไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคลเหมือนกับอาการแพ้ โอกาสจะระคายเคืองมากหรือหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล ผิวที่แข็งแรงมากมีโครงสร้างสมบูรณ์ดีก็จะทนกับปัจจัยที่ก่อการระคายเคือง ได้ดีกว่าผิวที่อ่อนแอ โดยปกติแล้วคนผิวแห้งจะมีโอกาสระคายเคืองง่ายกว่าผิวประเภทอื่น เพราะผิวชั้นนอกที่ไม่สมบูรณ์หรือขาดชั้นเคลือบปกป้องผิวนั้นจะทำให้สารก่อการระคายเคืองเข้ามาทำความเสียหายได้ อาการที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดจากการระคายเคืองก็มีตั้งแต่ รู้สึกคัน แสบแดง แห้งลอก

ท้ายที่สุดนี้ก็หวังว่าทุกท่านจะได้เข้าใจและแยกแยะอาการแพ้และระคายเคืองหรือ การอุดตันผิวออกจากกันได้ในระดับหนึ่งนะขอรับ สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือระคายเคืองง่ายมากจริงๆ ปัจจุบันก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผิวบอบบางออกมาตีตลาดอยู่เรื่อย ๆ ก็หวังว่าจะได้พบกับผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเองเร็ว ๆ นะขอรับ

และสำหรับผู้ที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ให้ผู้อื่นที่มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย ระคายเคืองง่าย ปูเป้ว่าให้แนะนำของที่มันอ่อนโยนและปลอดสารก่อระคายเคืองจริง ๆ ดีกว่านะขอรับ เพราะบางกระทู้มีคนตั้งถามว่าให้แนะนำของเครื่องสำอางสำหรับผิวแพ้ง่าย แต่เห็นบางคนแนะนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผิวเลย... (อย่างน้ำโสมงี้ ผิวแพ้ระคายเคืองง่ายใช้ไปคงร้องจ๊าก)


******************************

อ่านจบแล้ว อาจจะทำให้เรารู้ว่า เราเป็นคนผิวแพ้ง่ายหรือระคายเคืองง่ายกันแน่ บางคนอาจคิดว่าผิวตัวเองแพ้ง่ายทั้งๆที่จริงเป็นคนผิวระคายเคืองง่าย เนื่องจากดูแลผิวผิดวิธี ผิวไม่แข็งแรง อาจทำให้หมดโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีๆหลายตัวไปโดยปริยาย

 

บทความแนะนำ : ผิวแพ้ง่ายใช้ครีมอะไรดี วิธีเลือกครีมสำหรับผิวแพ้ง่าย

 บทความนี้ เรียบเรียงโดย ภญ.จิราพรรณ คำดี และ ภก. ธีรชัย เรืองบัณฑิต ห้ามคัดลอกไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ก่อนได้รับอนุญาต  ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2560

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้